กกร.คาดปี 61 เศรษฐกิจยังโตได้ 4% ด้านภาคส่งออกยังโตได้ระดับ 6%

06 ธ.ค. 2560 | 08:59 น.
กกร.คาดปี 61 เศรษฐกิจยังโตได้ 4% ภาคส่งออกยังโตได้ระดับ 6% พร้อมมาตรการเพิ่มเติมของรัฐบาลดูแลกลุ่มรากหญ้าเพิ่มกำลังซื้อเป็นตัวช่วย ยอมรับปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกเพียบ จี้รัฐสปีด 3 เรื่องก่อนหมดวาระ ขณะ“สมคิด”เรียกประธานหอฯ-สภาอุตฯ-ผู้บริหารแบงก์ถกช่วยเอสเอ็มอี 7 ธ.ค. 260897 -6 ธ.ค.60-นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)เผยว่า ที่ประชุม กกร.วันที่ 6 ธันวาคม 2560 ได้มีการหารือในหลายเรื่อง ได้ข้อสรุปที่สำคัญคือ ที่ประชุมเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2560 ที่ขยายตัวสูงเกินคาด ประกอบกับการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังสามารถรักษาแรงส่งของการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.7-4.0% โดยในส่วนของการส่งออกน่าจะขยายตัวได้สูงกว่ากรอบประมาณการเดิมที่ 6.5-7.5% แต่หลังจาก 10 เดือนแรกของปีนี้การส่งออกของไทยขยายตัวสูงถึง 9.7% จึงมองว่ามีความเป็นไปได้ที่การส่งออกในปี 2560 จะขยายตัวได้ประมาณ 9% ทั้งนี้แม้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงในทุกภาคส่วน สะท้อนได้จากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ยังคงเปราะบาง ซึ่งภาครัฐอยู่ระหว่างเตรียมออกมาตรการเพิ่มเติมในการดูแลผู้มีรายได้น้อยหรือในกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่รายได้ยังไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควรให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี กกร.ขอให้ภาครัฐเร่งผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2561 ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะกระจายตัวได้มากขึ้นในระยะข้างหน้า

“ในเบื้องต้น กกร.เห็นว่าในปี 2561 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับปี 2560 ที่ระดับ 4% โดยในส่วนของภาคการส่งออกปีหน้าคาดจะขยายตัวได้ที่ระดับ 6%”

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2 อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ที่สำคัญได้แก่ สถานการณ์การเมืองในหลายประเทศ อาทิการปฏิรูปกฎหมายภาษีของสหรัฐฯ,การสอบสวนกรณีความเชื่อมโยงระหว่างทำเนียบขาวกับรัสเซีย, การจัดตั้งรัฐบาลในเยอรมนี, การเจรจากรณีอังกฤษออกจากยุโรป(BREXIT) และที่น่าห่วงที่สุดคือความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี กรณีเกาหลีเหนือทดลองยิงขีปนาวุธ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวในตลาดการเงินโลก รวมถึงทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนในกรอบที่แข็งค่าจะไม่ส่งผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยในระยะต่อไป
สำหรับค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากสุดในรอบ 31 เดือนโดยแตะที่ระดับ 32.55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯถูกกดดันจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับร่างกฎหมายภาษีของสหรัฐฯ รวมทั้งการไหลกลับเข้ามาของเงินลงทุนต่างชาติในระยะสั้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและผลประกอบการของผู้ส่งออกได้ ดังนั้นภาครัฐโดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ควรดูแลใกล้ชิดเพื่อให้ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ กกร.ให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดทำโครงการส่งเสริมการให้ความรู้และการทดลองนำเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงมาใช้กับเอสเอ็มอีทั่วประเทศ จึงอยากให้เอสเอ็มอีที่มีการส่งออกและนำเข้าที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์เข้าร่วมโครงการ ที่ผ่านมาได้รับการอบรมให้ความรู้ไปแล้วกว่า 2,000 ราย

ด้านการปรับคณะรัฐบาลชุดใหม่(ประยุทธ์5) กกร.เห็นว่ารัฐมนตรีใหม่หลายคนเป็นที่ยอมรับของภาคเอกชน และเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ เรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการต่อคือ นโยบายการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนควรให้มีความต่อเนื่อง และเป็นไปตามแผนของรัฐบาลที่กำหนดให้นำประเทศไปสู่ยุค 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี

“รัฐบาลเหลือเวลาอีกแค่ 1 ปี ดังนั้นภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด อาทิ 1.การแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ขึ้น 2การปรุงแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน และ 3.การเร่งโครงสร้างพื้น ฐานรวมถึงการลงทุนโครงการเน็ตประชารัฐ 7.5 หมื่นหมู่บ้าน”

วิทยุพลังงาน ขณะที่ในส่วนของร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ...ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯฉบับแก้ไข จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันที่ 19 ธันวาคม 2560 นี้นั้นกกร.ได้มอบหมายให้คณะทำงานนำร่างฯฉบับแก้ไขดังกล่าวเพื่อศึกษาและให้ข้อคิดเห็นในเวทีรับฟังความเห็นฯ ทั้งนี้เพื่อจะนำไปสู่แนวทางในการปฏิบัติตามกฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป

นายกลินท์ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้เชิญประธานฯหอการค้าไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้บริหารธนาคารทุกธนาคารไปหารือถึงมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพิ่มเติม ซึ่งความต้องการช่วยเหลือของเอสเอ็มอีไม่ใช่มีเฉพาะเรื่องเงินทุนอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น เรื่องการตลาด การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การบริหารสต๊อก และเรื่องโลจิสติกส์ เป็นต้น ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว