กองทุนเฮดจ์ฟันด์เกิดยาก บลจ.เมินจัดตั้ง ผู้ลงทุนขาดความเข้าใจ โปรดักต์ซับซ้อน

09 ธ.ค. 2560 | 02:02 น.
ก.ล.ต.เผยไร้บลจ.ออกกองทุนรวมเฮดจ์ฟันด์ เหตุมีความเสี่ยงสูง จำกัดเฉพาะผู้ลงทุนที่มีสินทรัพย์และรายได้สูง บลจ.ประเมิณยังต้องใช้เวลาให้นักลงทุนเรียนรู้

[caption id="attachment_236813" align="aligncenter" width="244"] นางณัฐญา นิยมานุสร นางณัฐญา นิยมานุสร[/caption]

นางณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันก.ล.ต.อนุญาตให้มีการจัดตั้งกองทุนรวมเฮดจ์ฟันด์ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 ที่ผ่านมาแล้ว แต่ยังไม่มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มายื่นขอจัดตั้งกองทุน เนื่องจากเป็นกองทุนที่จำกัดประเภทผู้ลงทุนโดยกำหนดให้ผู้ลงทุนต้องมีฐานะค่อนข้างสูง เนื่องจากกองทุนมีความเสี่ยงสูง ลงทุนได้โดยไม่กำหนดอัตราส่วนการลงทุน โดยจำกัดให้ผู้ลงทุนที่ลงทุนได้ต้องยอมรับความเสี่ยงได้สูง จึงเปิดให้ลงทุนเฉพาะนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth) ประกอบกับเกณฑ์กำกับดูแลการขายกองทุนเฮดจ์ฟันด์ก็ค่อนข้างเข้มงวดเช่นกัน

[caption id="attachment_151713" align="aligncenter" width="503"] นายนาวิน อินทรสมบัติ นายนาวิน อินทรสมบัติ[/caption]

นายนาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย จก. เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าสาเหตุที่บริษัท ยังไม่ออกกองทุนรวมเฮดจ์ฟันด์นำเสนอแก่นักลงทุน เนื่องจากกองทุนมีกลยุทธ์ในการลงทุนค่อนข้างซับซ้อน แม้ข้อดีสามารถลงทุนในทรัพย์สินทางการเงินและทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกประเภท โดยไม่มีข้อจำกัดอัตราส่วนการลงทุน แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าระดับความเข้าใจของนักลงทุนยังมีไม่มาก

นอกจากนี้กลุ่มผู้ลงทุนรายบุคคลที่สามารถลงทุนได้ตามเกณฑ์ของทางการนั้นจะต้องมีความมั่งคั่งสูงมาก จึงเป็นกลุ่มที่มีค่อนข้างจำกัด ประกอบกับผู้ลงทุนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งมีการลงทุนที่หลากหลายและมีเงินลงทุนต่างประเทศอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องลงทุนผ่านกองทุนรวมเฮดจ์ฟันด์ของบลจ. ส่วนกลุ่มที่ยังไม่เคยนำเงินออกไปลงทุนกองทุนเฮดจ์ฟันด์ในต่างประเทศส่วนใหญ่จะลงทุนแบบเน้นความเสี่ยงตํ่า

“กองทุนเฮดจ์ฟันด์เต็มรูปแบบคงยังไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เร็ว ต้องให้เวลาผู้ลงทุนได้เรียนรู้ ขณะเดียวกันบลจ.กสิกรไทยฯพยายามออกออกกองทุนรวมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยปีนี้ได้ออกกองทุนเปิดเค โกลบอล ริสก์-เอ็นแฮนซท์ แอลโลเคชั่น (K-GREAT) ซึ่งมีกลยุทธ์เฮดจ์ฟันด์ 20% ของพอร์ต หากจะลงทุนทั้ง 100% คงต้องใช้เวลาอีกสักพัก” นายนาวิน กล่าว

ปัจจุบันกองทุนเฮดจ์ฟันด์มีกลยุทธ์ในการลงทุนมากกว่า 30 กลยุทธ์ หาโอกาสสร้างกำไรได้ทุกภาวะ ช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนออกไปผ่านการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในหุ้น ตราสารหนี้ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนและสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งบลจ.สามารถตั้งกองทุนรวมเฮดจ์ฟันด์ขึ้นมาเพื่อไปลงทุนผ่านกองทุนหลักในต่างประเทศ(Feeder Fund)แต่ปัจจุบันนักลงทุนไทยยังไม่สนใจ

MP19-3320-A ผู้บริหารจากบลจ.ซึ่งมีสินทรัพย์ขนาดใหญ่ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นทั่วโลกหลายตลาดยังให้ผลตอบแทนที่ดี ทำให้ผู้ลงทุนยังพอใจและแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นได้ จึงยังไม่สนใจกองทุนรวมเฮดจ์ฟันด์แม้จะเป็นรูปแบบกองทุนที่น่าสนใจลงทุนได้ทุกสินทรัพย์ คล่องตัว อีกทั้งผู้ลงทุนบุคคลธรรมดาที่มีสินทรัพย์ตามเกณฑ์ก.ล.ต.ที่สามารถลงทุนได้ ปัจจุบันลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคลและมีการลงทุนที่หลากหลายและลงทุนแบบเฮดจ์ฟันด์ได้อยู่แล้ว คล่องตัวกว่า จึงไม่ต้องมาลงทุนผ่านกองทุนรวมเฮดจ์ฟันด์

“บลจ.บางแห่งมีแนวคิดจะออกกองทุนรวมเฮดจ์ฟันด์ลงทุนในตราสารหนี้ แต่เกิดเหตุการณ์ตั๋วบี/อีผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนกังวล จึงชะลอแผนออกไป จึงมองว่ากองทุนรวมเฮดจ์ฟันด์ยังไม่ถึงเวลาที่ควรจะเกิดและจะออกได้เมื่อนักลงทุนต้องการ ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนยังไม่เข้าใจรูปแบบกองทุน” ผู้บริหารรายหนึ่งกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,320 วันที่ 7 - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว