ธรรมาภิบาล? AOT โต้ผลาญเงิน 3 พันล้าน

10 ธ.ค. 2560 | 10:15 น.
1703

รายงาน โดย ฐานเศรษฐกิจ |
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) ได้ทำหนังสือชี้แจงตามที่ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับประจำวันที่ 3-6 ธ.ค. 2560 ได้ลงข่าว “CTX ภาค 2 สุวรรณภูมิ เตรียมผลาญงบ 3 พันล้าน” โดยเนื้อหาข่าวมีข้อสงสัยถึง “คำชี้แจงที่ไม่ตรงกับหนังสือยืนยันของ CTX ว่า ใช้งานได้อีก 5 ปี จึงเป็นคำถามว่า แล้วทำไม? AOT ถึงร้อนรนใช้เงินนัก” โดยข่าวได้เชื่อมโยงว่า การที่เครื่อง CTX ปัจจุบันสามารถใช้งานต่อไปได้ถึงปี 2565 โดยไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง อันเป็นการ ‘ผลาญเงิน’ แต่อย่างใดนั้น


T04-07-16-7

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ขอเรียนชี้แจงว่า ทอท. ได้จัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดแบบ X-Ray (CTX) รุ่น 9400 DSI จำนวน 26 เครื่อง จากบริษัท Morpho Detection International, LLC. (MD LLC) เพื่อติดตั้งสำหรับใช้งานที่ ทสภ. หรือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2549 โดยปัจจุบันได้จ้างบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นผู้แทนของ MD LLC ในไทย ดูแลและซ่อมแซมเครื่อง CTX จนถึงวันที่ 6 ก.ค. 2562 ซึ่ง ทอท. ได้รับแจ้งจาก MD LLC เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2556 ว่า ได้แจ้งให้ลูกค้าทั่วโลกทราบแล้วว่า จะยกเลิกการผลิตเครื่อง CTX รุ่น 9400 DSI ในปี 2557 ดังนั้น หากสิ้นสุดสัญญาการจ้างเอกชนดูแลและซ่อมแซมเครื่อง CTX ในปี 2562 แล้ว หาก ทอท. ประสงค์จะใช้เครื่อง CTX รุ่น 9400 DSI ซึ่งเป็นรุ่นที่มีเทคโนโลยีเก่านี้ต่อไป MD LLC จะเรียกค่าปรับปรุงซ่อมแซม (Refurbish) เครื่อง CTX ทั้ง 26 เครื่อง เป็นเงิน 8,346,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คิดเป็นเงินไทยประมาณ 275 ล้านบาท

| บริษัทต้องจ่ายเพิ่ม 1.6 พันล้าน |
จากหนังสือที่ MD LLC แจ้ง ทอท. เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2558 มีใจความว่า นอกจากค่าปรับปรุงซ่อมแซม (Refurbish) เครื่องจำนวนประมาณ 275 ล้านบาท แล้วนั้น MD LLC จะขอคิดค่าดูแลและซ่อมแซมเครื่องเป็นเงิน 22,514,169.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 740 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 5 ปีแรก (นับจากปี 2562-2567) หรือคิดเป็นเฉลี่ยปีละราว 148 ล้านบาท และจะขอเพิ่มเป็นเฉลี่ยปีละราว 167 ล้านบาท ในช่วง 4 ปีถัดไป (ปี 2567-2571)

ทอท. ได้พิจารณาข้อเสนอของ MD LLC แล้ว เห็นว่า ควรจัดหาให้มีระบบใหม่ในการใช้งาน ก่อนวันที่ 6 ก.ค. 2562 เนื่องจากหลังจากนั้น ค่าใช้จ่ายในการ Refurbish และการจัดจ้างดูแลและซ่อมแซมเครื่อง CTX รุ่น 9400 DSI ตามที่เสนอมาเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้นสูงถึงราว 1,680 ล้านบาท เพื่อให้ ทอท. ได้มี ‘เครื่องเดิมที่ยกเลิกการผลิตไปแล้ว’ ใช้งานต่อไปอีก 9 ปี ซึ่งมีความไม่คุ้มค่าทางการเงิน และมีความสุ่มเสี่ยงต่อคุณภาพการให้บริการเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับการจัดหา ‘ระบบใหม่ที่มีเทคโนโลยีปัจจุบัน’ ในวงเงินราว 2,590 ล้านบาท ที่รวมระยะเวลารับประกัน 2 ปี รวมค่าแรงและอะไหล่ และมีอายุการใช้งานไปอีกราว 15 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ เพื่อให้มีระบบใหม่ดังกล่าวใช้งานได้ทันในปี 2562 ทอท. จำเป็นต้องเปิดให้มีการประมูลภายในเดือน ธ.ค. 2560


tp14-3320-1a

| ทอท. อ้างธรรมาภิบาล โปร่งใส |
ทอท. ยึดมั่นการดำเนินงานภายใต้หลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นสำคัญ ทอท. จึงจำเป็นที่จะต้องออกมาตอบโต้และชี้แจงข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องให้สาธารณชนได้รับทราบ ทั้งนี้ การเผยแพร่ข่าวสารโดยมิได้มีการตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วน นอกจากจะส่งผลเสียต่อผู้เผยแพร่ในด้านภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือแล้ว ยังจะส่งผลต่อประชาชนผู้บริโภคข่าวสาร อันจะนำมาซึ่งวัฒนธรรมที่ ทอท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจและบริษัทมหาชนของคนไทยไม่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยต่อไป

ก่อนหน้านี้ นายนิตินัย ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ว่า ตนรับหนังสือร้องเรียนของ บริษัท Smiths Detection ผู้จำหน่ายเครื่อง CTX ไว้พิจารณา และยืนยันว่า โครงการปรับปรุงเครื่องเอกซเรย์ของระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ทดแทนเครื่องซีทีเอ็กซ์ 9400 จำนวน 26 เครื่อง ที่ใช้งานอยู่ตั้งแต่เปิดสนามบิน ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนสเปกความเร็วในการตรวจสอบกระเป๋าจากความเร็ว 0.3 เมตรต่อวินาที เป็น 0.5 เมตรต่อวินาที

ส่วนที่ ทอท. ต้องเปลี่ยนระบบ เป็นเพราะอะไหล่ในรุ่นนี้ ทางซีทีเอ็กซ์แจ้งว่า จะไม่มีการผลิตออกมาแล้ว เพราะตกรุ่น ประกอบกับ ระบบนี้มีอายุการใช้งานมากว่า 11 ปีแล้ว




โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6



| CTX ยัน ไม่ต้องจ่ายค่าบำรุง |
Mr.Scott Basham ผู้อำนวยการฝ่ายขายของ บริษัท Smiths Detection ได้ยื่นหนังสือถึง ทอท. โดยระบุว่า เครื่องซีทีเอ็กซ์ 9400 สามารถสนับสนุนอะไหล่ไปอีก 10 ปี หลังเลิกการผลิต และขณะนี้บริษัทผลิตรุ่นซีทีเอ็กซ์ 9800 ซึ่งสามารถสนับสนุนอะไหล่ไปจนถึง 2030 ซึ่งเครื่องซีทีเอ็กซ์ที่ติดตั้งนั้น สามารถใช้อะไหล่ร่วมกันได้ ที่สำคัญเครื่องซีทีเอ็กซ์มีฐานของเครื่อง มีขนาด และตำแหน่งเดียวกัน ดังนั้น ผลกระทบต่อระบบสายพานลำเลียง Baggage Handling System (BHS) ที่มีอยู่ หรือ การจัดการสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระใหม่ ที่จะถูกเพิ่มเข้าไปในระบบจะมีน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม ในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ ต้องลำดับความย้อนหลัง เมื่อปี 2558 เดือน มี.ค. Morpho เจ้าของเครื่อง CTX ทำหนังสือแจ้ง ทอท. ว่า ถ้าจะใช้เครื่องจนถึงปี 2571 ขอค่าบำรุงซ่อมแซมเพิ่ม 275 ล้านบาท และจ่ายค่าซ่อมบำรุงรายปี ปีละ 148-167 ล้านบาท หรือประมาณ 5.7-6.4 ล้านบาทต่อเครื่องต่อปี

เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา บริษัท Smiths Detection ประเทศอังกฤษ ขอซื้อกิจการ CTX จาก Morpho สหรัฐอเมริกา และวันที่ 16 พ.ย. 2560 บริษัท Smiths ทำหนังสือยืนยันถึงคุณนิตินัย ว่า ทอท. ไม่ต้องจ่ายเงินค่า Refurbish จ่ายแต่ค่าซ่อมตามปกติ


02-3318

ขณะที่ ทอท. อ้างถึงหนังสือ บริษัท Morpho เมื่อ มี.ค. 2558 และยืนยันต้องเปิดประมูลภายในเดือน ธ.ค. นี้ ซึ่งเหลืออีกไม่กี่วันทำการ

หนังสือจาก บริษัท Smiths ล่าสุด เดือน พ.ย. ยืนยันว่า ทอท. ไม่ต้องจ่ายค่าปรับปรุงซ่อมแซม (Refurbish) จ่ายเพียงค่าซ่อมปกติ อย่างที่เคยจ่ายมาแล้ว 11 ปี และอะไหล่ยังมีต่อไปอีก 5 ปี เป็นอย่างต่ำ

ค่าซ่อมรายปีปกติ ไม่ว่าใช้ระบบใดก็ต้องใช้เงินซ่อมบำรุง ซึ่งหากรวมค่าซ่อมรายปีไปอีก 9 ปีข้างหน้า แน่นอนว่า ย่อมสูงและแลดูไม่คุ้มค่าทางการเงิน แต่เงินจำนวนนี้ไม่ว่าจะเปลี่ยนระบบหรือไม่ ต้องจ่ายอยู่ดี


อ๊ายยยขายของ-7-1

| จี้ ทอท. เปิดข้อมูลคัดที่ปรึกษา |
อย่างไรก็ตาม ความเป็นธรรมาภิบาลที่ ทอท. อ้างนั้น ควรต้องลงมือปฏิบัติด้วยการเปิดเผยการคัดเลือก การให้คะแนน การได้มาซึ่งบริษัทที่ปรึกษา และจ้างที่ปรึกษาด้วยราคาเท่าไร เปิดเผยข้อมูลว่า บริษัทที่ปรึกษาสิงคโปร์รายนี้ เป็นที่ปรึกษาให้แก่ ทอท. ทั้งหมดกี่สัญญา

ในโครงการระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระเปลี่ยนเที่ยวบิน Transfer Baggage เนื่องจากเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านบาท สมควรเปิดเผยข้อมูลการประมูลที่เร่งรีบ มีเวลาเพียง 12 วัน ให้เตรียมเอกสารประมูลทั้งหมด ทั้งแบงก์การันตี เอกสารทางเทคนิค หลักเกณฑ์ การให้คะแนนทางเทคนิคและทางราคา และราคาของผู้ชนะ

ทอท. ได้หาข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดในสนามบินอื่น ๆ ที่เป็นสนามบินชั้นนำ และเป็นสนามบินที่มีระบบ CTX 9400 ทำกันอย่างไร ต้องเสียเงินค่าออกแบบหรือไม่


1710

ที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงของ ทอท. และวิศวกร ได้ไปเยี่ยมชมศูนย์ทดสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ที่ติดตั้งจริงกับระบบสายพานลำเลียง และทราบว่า เครื่องยี่ห้อใด รุ่นใด ผ่านการทดสอบ และเครื่องยี่ห้อใด รุ่นใด ไม่ผ่านการทดสอบ เหตุใดจึงไม่ถูกเปิดเผย

จากข้อมูลชี้แจงของ ทอท. และคำถาม พร้อมข้อห่วงใยของบริษัทที่ได้แจกแจงผลดี ผลเสีย ของการจัดหาเครื่องตรวจวัตถุระเบิดครั้งนี้ คงพอแลเห็นได้ว่า ข้อมูลด้านไหนมีน้ำหนักมากกว่ากัน


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,320 วันที่ 7-9 ธ.ค. 2560 หน้า 14

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว