แผงพลังงานอเนกประสงค์ ผลิตทั้งน้ำและไฟฟ้าในเวลาเดียวกัน

09 ธ.ค. 2560 | 13:20 น.
เมื่อความร้อนจากแสงแดดสามารถทำให้อากาศกลายเป็นหยดนํ้าได้ก็แล้วทำไมเราไม่ทำให้แผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา กลายเป็นแผงดักหยดนํ้าเพื่อกักเก็บไว้ใช้กินดื่มด้วยเลยล่ะ บริษัท ซีโร่ แมส วอเทอร์ (Zero Mass Water) บริษัทสตาร์ตอัพดาวรุ่งจากรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา นำไอเดียที่ว่านี้มาผลิตแผงพลังแสงอาทิตย์ทูอินวันที่เรียกว่า solar hydropanel หน้าตาเหมือนกระบะที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้ตรงกลาง ประกบด้านข้างทั้งสองข้างด้วยกล่องหรือกระบะตื้นๆ ที่เอาไว้สำหรับรองรับและกักเก็บหยดนํ้า ข่าวระบุว่า แต่ละแผงจะสามารถผลิตนํ้าสะอาดได้ถึงวันละ 10 ลิตร หรือประมาณ 2.64 แกลลอน

MP27-3320-2b นวัตกรรมดังกล่าวมีชื่อทางการค้าว่า ซอร์ส (SOURCE) สามารถติดตั้งบนหลังคาอาคารต่างๆ ได้เช่นเดียวกันกับแผงโซลาร์เซลล์ทั่วๆ ไป แผงโซลาร์เซลล์ตรงกลางดึงดูดความร้อนจากแสงแดดมาผลิตกระแสไฟฟ้าและทำให้พัดลมเล็กๆ ในกระบะทำงาน ส่วนกระบะ 2 ข้างที่ใช้ในการผลิตนํ้าใช้วัสดุ 2 ชนิดที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน เพื่อสร้างกลไกการทำงานที่สำคัญ นั่นคือ วัสดุอย่างหนึ่งสะสมความร้อน วัสดุอีกอย่างหนึ่งดูดซับความชื้นจากอากาศ เมื่อทำงานร่วมกันมันก็จะควบแน่นไอนํ้าที่เกิดขึ้นให้กลายเป็นหยดนํ้าสะสมไว้ในกระบะที่มีความจุของเหลวได้ถึง 30 ลิตร จากนั้นจะมีการเติมแร่ธาตุ เช่น แคลเซียมและแมกนีเซียม ก่อนปล่อยลงท่อนํ้าดื่มของอาคาร

MP27-3320-1b โคดี้ ฟรีเซ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซีโร่ แมส วอเทอร์ เปิดเผยว่า ระบบดังกล่าวสามารถผลิตนํ้าดื่มได้ตลอดทั้งปีแม้ในสภาพภูมิอากาศที่มีความชื้นตํ่าและแห้งแล้ง เช่นในเมืองสก็อตส์เดลล์ รัฐแอริโซนา ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท ส่วนต้นทุนติดตั้งนั้น ถ้าเป็นชุดมาตรฐานที่ประกอบด้วยแผงโซลาร์เซลล์ 1 แผงตรงกลางประกบด้วยแผงผลิตนํ้า 2 ข้าง ราคาเริ่มต้นที่ 4,000 ดอลลาร์ (ราว 132,000 บาท เป็นราคาเฉพาะอุปกรณ์ ไม่รวมค่าแรงติดตั้ง) อายุการใช้งาน 10 ปี หรือคิดเป็นต้นทุนเฉลี่ยประมาณวันละ 1.23 ดอลลาร์ หรือเฉลี่ย 0.12-0.30 ดอลลาร์ต่อนํ้าดื่ม 1 ลิตร ปัจจุบันมีการติดตั้งระบบผลิตนํ้าควบคู่กับการผลิตกระแสไฟฟ้าดังกล่าวนี้จำนวนนับร้อยๆ แผงใน8 ประเทศทั่วโลก

MP27-3320-3b จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,320 วันที่ 7 - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว