AOTแจงยันจัดซื้อCTXใหม่จำเป็นและคุ้มค่ากว่าของเดิม

03 ธ.ค. 2560 | 09:45 น.
ตามที่หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับประจำวันที่ 3- 6 ธันวาคม 2560 ได้ลงข่าว “CTX ภาค 2 สุวรรณภูมิ เตรียมผลาญงบ 3 พันล้าน” โดยเนื้อหาข่าวมีข้อสงสัยถึง “คำชี้แจงที่ไม่ตรงกับหนังสือยืนยันของ CTX ว่าใช้งานได้อีก 5 ปี จึงเป็นคำถามว่าแล้วทำไม AOT ถึงร้อนรนใช้เงินนัก” โดยข่าวได้เชื่อมโยงว่าการที่เครื่อง CTX ปัจจุบันสามารถใช้งานต่อไปได้ถึงปี 2565 โดยไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง อันเป็นการ “ผลาญเงิน” แต่อย่างใดนั้น

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ชี้แจงว่า ทอท. ได้จัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดแบบ X-Ray (CTX) รุ่น 9400 DSI จำนวน 26 เครื่องจากบริษัท Morpho Detection International, LLC. (MD LLC) เพื่อติดตั้งสำหรับใช้งานที่ ทสภ. ตั้งแต่เปิดให้บริการ ทสภ. ในปี 2549 โดยปัจจุบันได้จ้างบริษัทเอกชนซึ่งเป็นผู้แทนของ MD LLC ในประเทศไทยดูแลและซ่อมแซมเครื่อง CTX จนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2562 ซึ่ง ทอท. ได้รับแจ้งจาก MD LLC เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2556 ว่าได้มีการแจ้งให้ลูกค้าทั่วโลกทราบแล้วว่าจะมีการยกเลิกการผลิตเครื่อง CTX รุ่น 9400 DSI ในปี 2557

 

ดังนั้นหากสิ้นสุดสัญญาการจ้างเอกชนดูแลและซ่อมแซมเครื่อง CTX ในปี 2562 แล้ว หาก ทอท. ประสงค์จะใช้เครื่อง CTX รุ่น 9400 DSI ซึ่งเป็นรุ่นที่มีเทคโนโลยีเก่านี้ต่อไป MD LLC จะเรียกค่าปรับปรุงซ่อมแซม (Refurbish) เครื่อง CTX ทั้ง 26 เครื่องเป็นเงิน 8,346,000 เหรียญสหรัฐ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คิดเป็นเงินไทยประมาณ 275 ล้านบาท โดยจากหนังสือที่ MD LLC แจ้ง ทอท. เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 มีใจความว่า นอกจากค่าปรับปรุงซ่อมแซม (Refurbish) เครื่องจำนวนประมาณ 275 ล้านบาทแล้วนั้น MD LLC จะขอคิดค่าดูแลและซ่อมแซมเครื่องเป็นเงิน 22,514,169.6 เหรียญสหรัฐ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 740 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 5 ปีแรก (นับจากปี 2562-2567) หรือคิดเป็นเฉลี่ยปีละราว 148 ล้านบาท และจะขอเพิ่มเป็นเฉลี่ยปีละราว 167 ล้านบาทในช่วง 4 ปีถัดไป (ปี 2567-2571)

 

Suvarnabhumi Airport

ทอท. ได้พิจารณาข้อเสนอของ MD LLC แล้ว เห็นว่าควรจัดหาให้มีระบบใหม่ในการใช้งานก่อนวันที่ 6 กรกฎาคม 2562 เนื่องจากหลังจากนั้นค่าใช้จ่ายในการ Refurbish และการจัดจ้างดูแลและซ่อมแซมเครื่อง CTX รุ่น 9400 DSI ตามที่เสนอมาเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้นสูงถึงราว 1,680 ล้านบาท เพื่อให้ ทอท. ได้มี “เครื่องเดิมที่ยกเลิกการผลิตไปแล้ว” ใช้งานต่อไปอีก 9 ปีซึ่งมีความไม่คุ้มค่าทางการเงิน และมีความสุ่มเสี่ยงต่อคุณภาพการให้บริการเป็นอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับการจัดหา “ระบบใหม่ที่มีเทคโนโลยีปัจจุบัน” ในวงเงินราว 2,590 ล้านบาทที่รวมระยะเวลารับประกัน 2 ปี รวมค่าแรงและอะไหล่ และมีอายุการใช้งานไปอีกราว 15 ปีข้างหน้า ทั้งนี้เพื่อให้มีระบบใหม่ดังกล่าวใช้งานได้ทันในปี 2562 ทอท. จำเป็นต้องเปิดให้มีการประมูลภายในเดือน ธันวาคม 2560

 

ทอท.ในฐานะผู้บริหารท่าอากาศยานหลัก 6 แห่งของประเทศไทยยึดมั่นการดำเนินงานภายใต้หลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นสำคัญ ทอท. จึงจำเป็นที่จะต้องออกมาตอบโต้และชี้แจงข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องให้สาธารณะชนได้รับทราบ ทั้งนี้การเผยแพร่ข่าวสารโดยมิได้มีการตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วน นอกจากจะส่งผลเสียต่อผู้เผยแพร่ในด้านภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือแล้ว ยังจะส่งผลต่อประชาชนผู้บริโภคข่าวสาร อันจะนำมาซึ่งวัฒนธรรมที่ ทอท.ในฐานะรัฐวิสาหกิจและบริษัทมหาชนของคนไทยไม่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยต่อไป

e-book-1-503x62