สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ฝนตกน้อยลงทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำบางแห่งเริ่มลด

02 ธ.ค. 2560 | 12:01 น.
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ฝนตกน้อยลงแล้ว ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำบางแห่งเริ่มลดลง

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. 60 เป็นต้นมา ปัจจุบันปริมาณฝนได้ลดน้อยลงแล้ว แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่งในพื้นที่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส สรุปสถานการณ์และการช่วยเหลือของกรมชลประทาน ได้ดังนี้

จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปริมาณฝนสูงสุด วัดได้ที่ อบต.ชลคราม อ.ดอนสัก 154 มิลลิเมตร ทำให้บริเวณที่ลุ่มต่ำในเขต อ.เมือง ยังคงมีน้ำท่วมขังเป็นบางแห่งเนื่องจากระบายไม่ทัน ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำตาปี กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานสุราษฎร์ธานี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 2 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 4 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำคลองท่าโพธิ์ และประตูระบายน้ำคลองไชยา พร้อมกับนำรถแบ็คโฮดำเนินการกำจัดเศษขยะและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อช่วยเร่งการระบายน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด

จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังคงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 12 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.บางขัน อ.นบพิตำ อ.หัวไทร อ.ฉวาง อ.สิชล อ.ท่าศาลา อ.เชียรใหญ่ อ.พระพรหม อ.ทุ่งสง อ.ปากพนัง และ อ.ชะอวด กรมชลประทาน ได้เดินเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำสายหลักอย่างต่อเนื่อง ส่วนระดับน้ำในคลองท่าดีที่สถานีวัดน้ำ X.200 อ.ลานสกา ซึ่งเป็นต้นน้ำคลองท่าดี ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 1.86 เมตร ส่วนพื้นที่ตอนล่างบริเวณสถานีวัดน้ำ X.203 อ.เมืองนครศรีธรรมราช ระดับน้ำคลองท่าดีต่ำกว่าตลิ่ง 40 เซนติเมตร แนวโน้มลดลง กรมชลประทาน ได้เปิดประตูระบายน้ำชะอวดแพรกเมือง อ.หัวไทร ทั้ง 5 บาน ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณปลายน้ำ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 46 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 18 เครื่อง เพื่อสูบและระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด สถานการณ์ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 24 – 48 ชั่วโมงนี้ สำหรับอำเภอรอบนอกคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 5 – 7 วัน หากไม่มีปริมาณฝนตกลงมาเพิ่มเติม

taveesak1

จังหวัดตรัง ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.นาโยง อ.ห้วยยอด อ.กันตัง อ.วังวิเศษ อ.ย่านตาขาว และ อ.ปะเหลียน คลองประเหลียนบริเวณสถานีวัดน้ำ X.236 บ.ย่านตาขาว อ.ย่านตาขาว ยังคงมีน้ำล้นตลิ่งสูงประมาณ 47 เซนติเมตร มีแนวโน้มลดลง ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำตรัง บริเวณสถานีวัดน้ำ X.234 บ.ป่าหมาก อ.เมือง ยังคงมีน้ำล้นตลิ่ง 1 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โครงการชลประทานตรัง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 6 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลให้เร็วขึ้น

จังหวัดพัทลุง ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนราษฎร 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ศรีนครินทร์ อ.ศรีบรรพต และอ.ควนขนุน แนวโน้มระดับน้ำเริ่มลดลง กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานพัทลุง ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 10 เครื่อง ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง อีก 10 เครื่องติดตั้งในเขตเทศบาลตำบลพนางตุง อ.ควนขนุน และยังมีเครื่องผลักดันน้ำอีก 10 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด

จังหวัดสงขลา ยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนประชาชน ในเขตพื้นที่ลุ่มต่ำคาบสมุทรสทิงพระ 10 อำเภอ ได้แก่ อ.สะบ้าย้อย อ.นาทวี อ.จะนะ อ.เทพา อ.รัติภูมิ อ.ควนเนียง อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ อ.สทิงพระ และ อ.สิงหนคร ระดับน้ำในแม่น้ำต่างๆเริ่มลดลง เนื่องจากฝนได้หยุดตกแล้ว โดยเฉพาะคลองอู่ตะเภา ที่ไหลผ่านตัวเมืองหาดใหญ่ ระดับน้ำที่สถานี X.90 บ.บางศาลา อ.คลองหอยโข่ง ต่ำกว่าตลิ่ง 1.14 เมตร แนวโน้มระดับน้ำลดลง

ทั้งนี้ ในกรณีที่ปริมาณน้ำในคลองอู่ตะเภาอยู่ในเกณฑ์ 1,000 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน จะใช้คลอง ร.1 ช่วยลดปริมาณน้ำในคลองอู่ตะเภาที่จะไหลผ่านลงสู่ตัวเมืองหาดใหญ่ ได้กว่า 815 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะเร่งระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาต่อไป สำหรับการเตรียมความพร้อมการช่วยเหลือ กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 56 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 16 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่หากเกิดน้ำท่วมขัง

จังหวัดสตูล ฝนที่ตกหนักเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 60 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ควนโดน และอ.ละงู ระดับน้ำในคลองละงูบริเวณสถานีวัดน้ำ X.231A อ.เมือง ต่ำกว่าตลิ่ง 60 เซนติเมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนที่คลองดุสน ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำ X.239 อ.เมือง ต่ำกว่าตลิ่ง 12 เซนติเมตร แนวโน้มทรงตัว

 

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 จังหวัดปัตตานี ยังคงมีฝนตกหนักในพื้นที่ วัดปริมาณฝนสูงสุดวัดได้ที่อ.ปานาเระ 139.8 มิลลิเมตร ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานียังคงเพิ่มสูงขึ้น มีพื้นที่ 7 อำเภอได้รับผลกระทบน้ำท่วม ได้แก่ อ.หนองจิก อ.ยะรัง อ.สายบุรี
อ.โคกโพธิ์ อ.ไม้แก่น อ.ปานาเระ และอ.เมืองปัตตานี ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานี ที่สถานีวัดน้ำ X.10A บริเวณสะพานเดชานุชิต อ.เมือง สูงกว่าตลิ่ง 0.27 เมตร แนวโน้มระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานียังคงเพิ่มสูงขึ้น หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม คาดว่าระดับน้ำจะลดลงต่ำกว่าตลิ่งภายใน 2 - 3 วันนี้

จังหวัดยะลา ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 5 อำเภอ ไก้แก่ อ.เมือง อ.ยะหา อ.บันนังสตา อ.กรงปินัง และอ.รามัน ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีบริเวณสถานีวัดน้ำ X.40A อ.เมืองยะลา ต่ำกว่าตลิ่ง 1.50 เมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนที่สถานีวัดน้ำ X.40B อ.เมืองยะลา ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 38 เซนติเมตร แนวโน้มลดลง กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานยะลา ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 2 เครื่อง บริเวณฟาร์มตัวอย่างวังพญาท่าธง อ.รามัน เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำหากเกิดน้ำท่วมขังแล้ว

จังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ยี่งอ อ.บาเจาะ อ.สุคิริน อ.สุไหงโก-ลก และอ.แว้ง ระดับน้ำในแม่น้ำโก-ลกที่สถานีวัดน้ำ X.119A บริเวณสะพานลันตู ในเขตเทศบาลเมืองสุไหง – โกลก สูงกว่าตลิ่ง 1.84 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 8 เครื่องตามจุดต่างๆ เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ที่ท่วมขังผ่านคลองระบายน้ำต่างๆ 19 สาย เพื่อให้ไหลลงสู่ทะเลให้เร็วขึ้นต่อไปแล้ว

e-book-1-503x62