เล็งปั้นบางซื่อเทียบชั้นญี่ปุ่น ลั่น!ลุยเมกะโปรเจ็กต์ตามแผนรับอีอีซี-ไทยแลนด์4.0

07 ธ.ค. 2560 | 04:15 น.
“ไพรินทร์” รัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคมคนใหม่ยันพร้อมใช้ประสบการณ์เร่งต่อยอดงานเก่าและสานต่องานใหม่ เล็งปั้นบางซื่อ-พหลโยธินเป็นฮับระบบการเดินทางและการขนส่ง รูปแบบสมาร์ทซิตี เดินหน้าเร่งขับเคลื่อนเมกะโปรเจ็กต์ให้ได้ตามแผน ไทยแลนด์ 4.0 และอีอีซี

[caption id="attachment_238017" align="aligncenter" width="374"] ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ไพรินทร์ ชูโชติถาวร[/caption]

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมาว่า ด้วยความที่ตนมีพื้นฐานมาทางด้านหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจึงพร้อมจะขับเคลื่อนโครงการต่างๆของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของกระทรวงคมนาคม แต่เนื่องจากกระทรวงคมนาคมมีโครงการที่เป็นงานโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการเร่งด่วนอย่างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 มอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ ให้บริหารรถ เรือ ราง จึงจะเร่งรัดให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่อยู่ระหว่างการผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และโครงการพัฒนาพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)

โดยเฉพาะอีอีซี หรือชื่อเดิมว่าอีสเทอร์นซีบอร์ดนั้น ถือได้ว่าเป็นวิศวกรที่เข้าไปบุกเบิกในรุ่นแรกของการพัฒนาโครงการ ขับเคลื่อนโครงการด้านการเวนคืน 30 ปีผ่านไปถือได้ว่ามาบตาพุดเป็นท่าเรือในระดับท็อป 10 ของโลก เป็นตัวขับเคลื่อนจีดีพีทางเศรษฐกิจได้ดีในระดับที่พึงพอใจ ดังนั้นกรณีที่รัฐบาลเลือกเอาอีอีซีมาพัฒนาใหม่จึงเป็นแนวคิดที่ดีมากเพราะหากสามารถทำได้สำเร็จก็จะสามารถผลักดันจีดีพีของประเทศไทยให้ก้าวขึ้นไปอยู่ในอีกระดับหนึ่งได้

“อยากใช้ประสบการณ์ความรู้ความเชี่ยวชาญมาช่วยขับเคลื่อนงานต่างๆของกระทรวงคมนาคมในฐานะวิศวกรไทยกลุ่มแรกที่ได้เข้าไปพัฒนาพื้นที่ รู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นผลงานการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมหนักอีกแห่งหนึ่งที่เป็นฝีมือของคนไทยจริงๆ แถมยังทำได้ดีมากเทียบกับนานาประเทศ ดังนั้นเมื่อจะต้องกลับไปยกระดับการพัฒนาให้เพิ่มขีดความสามารถมากขึ้นจึงย่อมทำได้ ต้องการพัฒนาให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมไฮเทคในอนาคต”

tp12-3319-1a นายไพรินทร์กล่าวอีกว่าเช่นเดียวกับความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบสมาร์ทซิตีที่เป็นคำกว้างๆ อีกทั้งปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างมาเลเซียก็ได้พัฒนาเข้าสู่ระบบสมาร์ทซิตีเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนด้วยการสร้างเมืองตัวอย่าง ดังนั้นคำว่าสมาร์ทซิตีจึง ครอบคลุมในวงกว้างทั้งการพัฒนาเมือง การคมนาคมขนส่ง จึงมีหลายมิติที่จะเลือกไปดำเนินการ

“สมัยปตท.ยังเคยเสนอรัฐให้ทดลองพัฒนาระบบสมาร์ทซิตีให้เป็นพื้นที่นำร่อง โดยในสมัยที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นรองนายกรัฐมนตรี ได้เคยให้ปตท.ศึกษาความเป็นไปได้ใน 6 หัวเมือง โดยมีเงื่อนไขว่าต้องอยู่ข้างทางรถไฟ ท่อก๊าซ พลังงานต้องเข้าถึงได้ง่าย โดยในพื้นที่ส่วนกลางได้เคยนำเสนอให้พัฒนาย่านสถานีพหลโยธิน ล่าสุดทราบว่าหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กำหนดเป็นนโยบายรองรับเอาไว้แล้วเช่นกัน โดยปตท.เคยเสนอพัฒนาพื้นที่ช่วงเชียงราก จ.พระนครศรีอยุธยา ให้เป็นเมืองเบสต์ทาวน์ ส่วนย่านพหลโยธินเสนอให้พัฒนาเป็นศูนย์กลางการพัฒนาระบบคมนาคมระบบราง ส่วนจะได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนในเรื่องนี้ต่อไปหรือไม่นั้นขอรอดูความชัดเจนจากรัฐบาลอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าพร้อมเร่งผลักดันต่อไป”

ทั้งนี้สถานีกลางบางซื่อจัดได้ว่าเป็นพื้นที่สำคัญเป็นจุดเชื่อมต่อของระบบการคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะระบบราง ดังนั้นหากสามารถทำให้บางซื่อเป็นการเชื่อมต่อสมัยใหม่ได้จะทำให้ประสิทธิภาพการขนส่งทางถนนและทางรางเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ดังกรณีที่ประเทศญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์

“เช่นเดียวกับที่ดินแปลงใหญ่อย่างมักกะสัน สถานีแม่นํ้า สามารถพัฒนาเช่นเมืองโตเกียวของญี่ปุ่น สามารถพัฒนาให้เป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจได้อย่างดี เช่นเดียวกับเมืองโยโกฮามา ที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่รองรับโตเกียว ดังนั้นหากอีอีซีสามารถรองรับกรุงเทพมหานครก็สามารถพัฒนาได้เช่นกัน ดังนั้นจึงสามารถนำโมเดลของโยโกฮามา มาใช้พัฒนาประเทศไทยได้เลยทันที”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,319 วันที่ 3 - 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว