เครื่องนุ่งห่มรับส้มหล่นจีนลดผลิต

06 ธ.ค. 2560 | 11:59 น.
การ์เมนต์จีนปฏิรูปครั้งใหญ่ แห่สร้างแบรนด์อัพเกรดสินค้าตีตลาดโลก-ลดรับจ้างผลิตโออีเอ็ม ไทยส้มหล่นแบรนด์ยุโรปหันใช้เป็นฐานผลิตตีตลาดแดนมังกร ทำยอดส่งออก 10 เดือนพุ่งกว่า 10% ม.หอการค้าฯชี้ยุทธศาสตร์ “เมด อิน ไชน่า” ไทยมีได้-มีเสีย ขณะ 10 เดือนไทยขาดดุลค้าจีน 4.37 แสนล้าน

ยุทธศาสตร์ “เมด อิน ไชน่า 2025” ของจีนที่มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมการผลิตของจีนไปสู่ความทันสมัย ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ลดภาพลักษณ์สินค้าราคาถูก ด้อยคุณภาพ พร้อมเร่งสร้างแบรนด์สินค้าจีนสู่ระดับโลก ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นทั้งโอกาส และปัจจัยเสี่ยงต่อสินค้าไทย

นายถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้โรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่ม (การ์เมนต์) ของจีนซึ่งถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกได้มุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีแบรนด์เนมของตัวเองเป็นหลัก ทั้งเสื้อผ้าแฟชั่น เสื้อผ้ากีฬา เพื่อจำหน่ายในประเทศ และ ส่งออกแข่งขันในตลาดโลก ลดการรับจ้างผลิตในแบรนด์ลูกค้า(โออีเอ็ม) ลง ทั้งนี้ผู้ประกอบการจีนมองออกว่าอนาคตอันใกล้นี้ค่าแรงในจีนจะสูงขึ้น และปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาห กรรมจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

1tha “การผลิตการ์เมนต์ของจีนโดยอาศัยต้นทุนค่าแรงตํ่าอย่างเดียวในอนาคตจะอยู่ไม่ได้ เพราะจะมีประเทศอื่นที่ผลิตได้ในต้นทุนที่ตํ่ากว่า เช่น กลุ่ม CLMV บังกลาเทศขึ้นมาทดแทน จากทิศทางดังกล่าวส่งผลให้ลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของเสื้อผ้าแบรนด์เนม เฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าจากยุโรปที่เคยสั่งผลิตสินค้าในจีนเพื่อจำหน่ายในตลาดจีนต้องหันมาสั่งผลิตในประเทศอื่นรวมถึงสั่งผลิตจากไทยเพื่อไปขายในจีน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขการส่งออกการ์เมนต์ของไทยไปจีนช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 10%”

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน มีนโยบายปฏิรูปภาคการผลิตเพื่อยกระดับสินค้าจีนทั้งระบบให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างแบรนด์สินค้าจีนให้เป็นแบรนด์ระดับโลก ณ เวลานี้มีสินค้าจีนที่มีชื่อเสียงระดับโลกแล้วมากมาย อาทิ โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Huawei, Xiaomi, Oppo และ Vivo เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขายของแบรนด์เจ้าตลาดอย่าง ไอโฟน และซัมซุงอย่างมาก เนื่องจากราคาสินค้าจีนไม่สูง และมีคุณภาพ

[caption id="attachment_211507" align="aligncenter" width="471"] รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย[/caption]

ปัจจุบันรัฐบาลจีนได้ออกเครื่องหมายรับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้าเป็นรูปตัว “S”ในวงกลมเพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในสินค้าที่จะซื้อ โดยเครื่องหมายนี้ติดในทุกสินค้าที่ผ่านการรับรองแล้ว เช่น อาหารพร้อมทาน ขนมขบเคี้ยวต่างๆ นมสำหรับทารก และสินค้าอื่นๆ ซึ่งจากนี้คาดจะส่งผลกระทบต่อสินค้าอาหารของไทยที่จะเข้าไปแข่งขันในตลาดจีนมากขึ้น รวมถึงจะมีสินค้าจีนส่งเข้ามาตีตลาดในไทยและในอาเซียนมากขึ้น จากที่เวลานี้มีสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของจีนส่งเข้ามาจำหน่ายในไทยและอาเซียนมากอยู่แล้ว แนวโน้มจากนี้จะเพิ่มมากขึ้น

“สินค้าจีน 3-4 กลุ่มที่เป็นเบอร์ 1 ของโลกแล้วในเวลานี้ ได้แก่ แผงวงจรโซลาร์เซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า และโรบอต ขณะที่ในไทยเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์จีน เช่น ไฮเออร์ ไฮเซ่นส์ ได้ยกระดับเข้ามาตีตลาดแย่งส่วนแบ่งตลาดแบรนด์ซัมซุง และแอลจีจากเกาหลีในไทยมากขึ้น เพราะคุณภาพใกล้เคียงกันแต่ราคาถูกกว่า ส่วนสินค้าอาหาร ให้จับตาจากนี้จะมีสินค้าพวกขนบขบเคี้ยว รวมถึงอาหารแปรรูปจากจีนเข้ามาเปิดร้านจำหน่ายในไทย ในอาเซียน รวมถึงทั่วโลกมากขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีน และนักธุรกิจจีนที่ไปทั่วโลก”

ดร.อัทธ์ มองว่าแม้ไทยจะได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนที่จะเข้ามาบุกตลาดมากขึ้น แต่ทางกลับกันสินค้าไทยที่เป็นตลาดเฉพาะ(นิชมาร์เก็ต)ที่ไม่ได้รับผลกระทบและยังส่งออกไปจีนได้ดี เช่น ยางพารา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง สินค้าอาหารที่มีคุณภาพสูง สินค้าเกษตรในกลุ่มผลไม้ที่เป็นที่นิยมในจีน เช่น ทุเรียน ลำไย เงาะ มังคุด เป็นต้น

นายวิษณุ ลิ่มวิบูลย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้สินค้าจีนจะครองตลาดโลก แต่สินค้าจีนก็ถูกกีดกันและถูกตอบโต้ทางการค้าในหลายประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจีนต้องออกมาลงทุนข้างนอก รวมถึงในไทย เช่นผลิตแผงโซลาร์เซลล์ ยางรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในแบรนด์จีนเพื่อใช้ไทยเป็นฐานผลิตส่งออก ซึ่งจะเป็นโอกาสไทยในการป้อนวัตถุดิบ หรือร่วมทุนเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ จีนเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญของไทย โดยช่วง 10 เดือนแรกปีนี้การค้าไทย-จีนมีมูลค่ารวม 2.07 ล้านล้านบาท โดยไทยส่งออก 8.16 แสนล้านบาท นำเข้า 1.25 ล้าน ล้านบาท ไทยขาดดุลการค้าจีน 4.37 แสนล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,319 วันที่ 3 - 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว