โจทย์หินแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รวยกระจุกจนกระจาย

03 ธ.ค. 2560 | 12:36 น.
นายบัณฑูร ลํ่าซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) แสดงทรรศนะเกี่ยวกับแนวทางไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศว่า สัญญาณเศรษฐกิจปี 2561 เริ่มมีสัญญาณมีชีวิตชีวามากขึ้น ตัวเลขต่างๆ ดีขึ้น แต่หากความมั่งคั่งยังกระจุกตัว เช่น คนกลุ่มบนรวยก็ยังรวยอยู่ และคนกลุ่มล่างยังจนอยู่ ราคาสินค้าเกษตรยังตํ่า ขายไม่ได้ คนข้างล่างก็ยังไม่มีความสุข ก็คืนความสุขไม่ได้ คงแจกเงินไปตลอดไม่ได้ แต่ตอนนี้ต้องทำอย่างนี้ไปก่อน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ประเทศไทยต้องทำให้มากกว่านี้ การเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งไม่ใช่ประเด็นสำคัญ อยากเห็นคนที่อยากมาเป็นรัฐบาลมาพร้อมกับความตั้งใจความรู้ที่จะแก้ปัญหา ไม่ใช่มาด้วยอำนาจ เพื่อเสวยอำนาจ อย่างที่ผ่านมาแล้วแก้ปัญหาประเทศไม่ได้ แล้วก็วุ่นวายกันอยู่ทุกวันนี้

“การแก้ไขปัญหาต้องมีความพร้อมในการแก้ไข นำพาประเทศชาติไปสู่ความเจริญ ต้องมีบุคลากรที่มีความสามารถก่อนที่จะเสนอหน้ามาให้ประชาชนเขาเลือก มีความสามารถหรือไม่ หรือว่าเป็นหน้าเดิมๆ ทำแบบเดิมๆ แล้วก็แบ่งเงินกันกินแบบเดิมๆ อย่างนั้นไม่เอา”

[caption id="attachment_238037" align="aligncenter" width="503"] บัณฑูร ลํ่าซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บัณฑูร ลํ่าซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)[/caption]

ดังนั้น การกระจายความมั่งคั่งเป็นโจทย์ที่ทุกประเทศต้องทำ ไม่ใช่เศรษฐกิจโตแต่กระจุกอยู่ข้างบนแล้วข้างล่างฟีบ ประเทศไทยฟีบอยู่ สะท้อนผ่านหนี้เสียธนาคาร ทั้งหนี้เสียเอสเอ็มอี หนี้เสียของบุคคล ถ้ามันเยอะต่อให้ประเทศไทยประกาศว่ามีการเติบโต กระตุ้นขึ้นมาจริง แต่การกระจายความมั่งคั่งไม่เกิดขึ้นในทันที ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญอย่างยิ่งในตอนนี้ จะทิ้งให้คนจำนวนมากจนข้างล่างเป็นไปไม่ได้ อยู่ไม่ได้แบบนั้น ซึ่งใครก็ตามที่รับมาเป็นรัฐบาล ซึ่งก็เห็นอยากจะเป็นกันนัก ก็ต้องรับโจทย์นี้ไปทำ ถ้าทำไม่เป็น อย่ามารับเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ทุกประเทศมีปัญหาโครงสร้างของตัวเอง แต่อยู่ที่ผู้บริหารประเทศตระหนักรู้หรือไม่ว่าโครงสร้างอันนี้เป็นความเสี่ยง ถ้ารัฐบาลรู้และทำหน้าที่ของเขาในการแก้ปัญหา ที่ไหนก็มีความเสี่ยง อยู่ที่ว่ารู้หรือไม่ อย่างของไทยบอกว่าจะมีการปฏิรูปมีคณะกรรมการปฏิรูปเสนอขึ้นไปจะเอาด้วยหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่มีอยู่กว่า 10 คณะ ก็ทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อประเทศ มีข้อเสนอมากมาย แต่ไม่รู้ว่าเสนอขึ้นไปจะเอาหรือไม่ เพราะข้อเสนอเป็นการผ่าอำนาจของรัฐของระบบราชการไทย ซึ่งยากมาก แต่ไม่อย่างนั้นจะมาเป็นรัฐบาลทำไม ถ้าไม่กล้าปฏิรูป ไม่กล้าหักโครงสร้างอย่างเดิมๆ ซึ่งไม่มีใครเป็นผู้ร้ายเป็นการส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของโครงสร้าง ถ้าไม่แก้ไทยก็ไปไหนไม่ได้ไม่ต้องไปไทยแลนด์ 4.0

บาร์ไลน์ฐาน “หลังจากทำมา 1 ปี สิ้นปีนี้จะส่งการบ้านนายกฯแล้ว ข้อเสนอเราไม่ได้พิสดาร แต่อยู่ที่ว่ากล้าทำมั้ย ซึ่งข้อเสนอของคณะผมรับรองได้ไม่เหมือนเดิม ฉีกแนวจากเดิม ข้อเสนอเหล่านี้ก็ถูกเสนอโดยอดีตข้าราชการที่อยู่ในระบบข้าราชการมาทั้งชีวิต ได้เห็นความไม่เอาไหนสิ่งที่สนองต่อความเป็นจริงในการแก้ปัญหา ในหลักการเป็นอย่างนี้ แต่ในรายละเอียดต้องรอเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ คณะรัฐมนตรี”

โจทย์ของมนุษย์อยู่ตรงนี้ไม่เปลี่ยนจะด้วยเหตุใดก็ตาม หรือไม่มีความสามารถที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่สามารถต้านแรงต้านโครงสร้างได้ ไม่สามารถโน้มน้าวทีมงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันก็แก้อะไรไม่ได้ก็แพ้ แล้วถ้าแพ้ในระดับ รัฐก็พาประชาชนทั้งประเทศแพ้ นั่นแหละคือความน่ากลัว และเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของการเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะได้อำนาจมาด้วยวิธีใดก็ตาม ถ้าพาประชาชนไปสู่การปฏิรูปไม่ได้ก็ถือว่าไม่ทำหน้าที่และไม่สมควรมาเป็นรัฐบาล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,319 วันที่ 3 - 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว