กรมค้าต่างประเทศเร่งดันค้าชายแดนส่งผู้เชี่ยวชาญลงสระแก้วพัฒนาผู้ประกอบการ

01 ธ.ค. 2560 | 11:35 น.
กรมการค้าต่างประเทศเดินหน้าผลักดันการค้าชายแดน เตรียมส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่สระแก้ว พัฒนาผู้ประกอบการ

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการส่งเสริมการค้าชายแดนและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน มีแผนที่จะส่งเสริมและผลักดันการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศกัมพูชา ทั้งในเรื่องของการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ โดยมีกำหนดจัดงานสัมมนา เรื่อง เจาะกลยุทธ์การค้าชายแดน สร้างโอกาส SMEs ไทย พิชิตตลาดกัมพูชาในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 เพื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดสระแก้วและจังหวัดใกล้เคียงถึงแนวทาง วิธีการ ตลอดจนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา

“ผู้ประกอบการ SMEs ถือได้ว่าเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การจัดการสัมมนาในครั้งนี้ก็เปรียบเสมือนการติดอาวุธทางปัญญาให้กับผู้ประกอบการ SMEs ด้วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงและการใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและภูมิภาค โดยเฉพาะการพัฒนาและส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนการสร้างขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจมีความพร้อมที่จะเข้าสู่การพัฒนาประเทศไทยเป็น Trading Nation ซึ่งที่ผ่านมากรมการค้าต่างประเทศก็ได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างต่อเนื่อง”

adul

ทั้งนี้ ไทยและกัมพูชามีมูลค่าการค้าชายแดนเฉลี่ยปีละกว่า 120,000 ล้านบาท สำหรับมูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 (ม.ค.-ก.ย.) พบว่า มีมูลค่าการค้าสูงถึงกว่า 92,000 ล้านบาท โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้าราว 55,000 ล้านบาท

สำหรับจังหวัดที่มีมูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชาสูงที่สุดได้แก่จังหวัดสระแก้ว ซึ่งมูลค่าการค้าเฉลี่ยในแต่ละปีมากกว่า 60,000 ล้านบาท โดยจังหวัดสระแก้วเป็นที่ตั้งของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว ตลอดจนเป็นจังหวัดที่ตั้งบนแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ ที่เชื่อมโยงไทย-กัมพูชา-เวียดนาม (กรุงเทพฯ-สระแก้ว-พนมเปญ-โฮจิมินห์-วังเตา) ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์และโอกาสจากข้อตกลงทางการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ภายใต้แนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้นี้ในการกระจายสินค้า และขยายฐานการผลิต ได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว