กรมพัฒน์ฯ เปิดแผนยุทธศาสตร์รุกกระตุ้นใช้อี-คอมเมิร์ซสร้างธุรกิจไทย

01 ธ.ค. 2560 | 11:17 น.
กรมพัฒน์ฯ เปิดแผนยุทธศาสตร์อี-คอมเมิร์ซสร้างธุรกิจไทยเน้นพัฒนา 3 ด้าน - พัฒนาคน - กระตุ้นการใช้อี-คอมเมิร์ซ - อำนวยความสะดวกธุรกิจ ทั้งเตรียมเปิดโครงการ อี-คอมเมิร์ซบิ๊กแบง : 3e เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ชุมชนคาดปี'64 มูลค่าอี-คอมเมิร์ซในไทย แตะ 5 ล้านล้านบาท

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญกับอี-คอมเมิร์ซ โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการส่งเสริมอี-คอมเมิร์ซ เร่งดำเนินการให้สอดคล้องกับการพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 และรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีและการขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน

ทั้งนี้กรมฯได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สร้างธุรกิจไทย (e-Commerce for Thai SMEs) ขึ้นให้สอดรับกับแผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (2560 - 2564) โดยได้กำหนดเป้าหมายที่จะเป็น ศูนย์กลางการพัฒนาสู่ช่องทางอี-คอมเมิร์ซ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เอสเอ็มอีและชุมชนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามแผนยุทธศาสตร์ฯ กรมฯ จะเน้นการพัฒนาสู่ความสำเร็จแบ่งเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย

ด้านการพัฒนาคน (Human) ได้แก่ การจัดอบรมให้ความรู้การพัฒนาเข้าสู่ช่องทางและสร้างกลยุทธ์สู่ความสำเร็จอี-คอมเมิร์ซ”
kulne1 ด้านการกระตุ้นการใช้อี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce Booster) การจัดกิจกรรมกระตุ้นการซื้อขายผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ ด้วยการจัดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเข้าสู่การค้าออนไลน์ กิจกรรมเผยแพร่ร้านค้าออนไลน์ที่ได้รับเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือจากกรมฯ และด้านการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ (Ecosystem) เน้นการส่งเสริมพัฒนาด้านการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ เนื่องจากเป็นองค์ประกอบหลักที่จะส่งผลต่อการขยายตัว และการเติบโตในภาพรวมของการประกอบธุรกิจ

นอกจากนี้ กรมฯ เตรียมเปิดโครงการอี-คอมเมิร์ซบิ๊กแบง (e-Commerce Big Bang) โดยใช้มาตรการ 3e พัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ได้แก่ e-Marketplace : ตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมสินค้าของเอสเอ็มอีและชุมชนเข้าสู่ร้านค้าออนไลน์และเชื่อมโยงเข้าสู่ตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีศักยภาพทางการตลาด และขยายร้านค้าชุมชนสู่การเป็นศูนย์กลางสั่งซื้อสินค้าต่างๆ ในตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกความต้องการบริโภคของชุมชน

e-Logistic การขนส่ง-กระจายสินค้าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ใช้เทคโนโลยีสร้างศูนย์รวมผู้ให้บริการ โลจิสติกส์ขนส่งและกระจายสินค้าในท้องถิ่น เช่น รถบรรทุกขนาดเล็กรับจ้าง รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถโดยสารประจำทางท้องถิ่น และเชื่อมโยงกับร้านค้าชุมชนให้เป็นศูนย์กระจายสินค้า รับฝากการขนส่งสินค้าให้แก่เอสเอ็มอีและชุมชน ส่งผลต่อการสร้างการเติบโตของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในท้องถิ่น ประหยัดต้นทุนและเวลาการขนส่งอย่างเหมาะสม และ

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

e-Portal ศูนย์อำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจครบวงจร / ศูนย์กลางเชื่อมโยงผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งเมื่อสภาพแวดล้อม (Ecosystem) มีความเหมาะสมในการประกอบธุรกิจย่อมส่งผลต่อการประกอบธุรกิจผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่เอสเอ็มอีและชุมชนอย่างทั่วถึง

“เบื้องต้น กรมฯ ได้ดำเนินการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เอสเอ็มอี ภายใต้เครื่องหมาย DBD Registered และ DBD Verified จำนวนกว่า 30,000 เว็บไซต์ อีกทั้ง ได้ต่อยอดการพัฒนาการค้าออนไลน์ให้เข้าสู่มาตรฐานและสามารถขยายตลาดระดับประเทศ คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 54,000 ล้านบาทต่อปี และยังดำเนินการเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก โดยการพัฒนาร้านค้าชุมชนให้เป็นร้านค้าชุมชนไฮบริด จำนวน 2,000 ร้านค้า คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 3,600 ล้านบาทต่อปี รวมเป้าหมายการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 57,600 ล้านบาทต่อปี”

ทั้งนี้ ในปี 2559 ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย มีมูลค่ารวม 2.5 ล้านล้านบาท โดยคาดว่ามูลค่าอี-คอมเมิร์ซไทย จะมีอัตราการขยายตัว ร้อยละ 100 ในปี 2564 หรือมีมูลค่ารวมประมาณ 5 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวแบบขั้นบันไดที่สูง และธุรกิจอี-คอมเมิร์ซจะเป็นธุรกิจดาวเด่นที่น่าจับตามองตลอด10ปีนี้

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว