ทรูช้อปปิ้งจับคนรุ่นใหม่ ดันแพ็กไซซ์เล็กปลุกยอดขายปี61โต20%

07 ธ.ค. 2560 | 11:07 น.
ทรูช้อปปิ้ง ลุยตลาดออนไลน์ เพิ่มช่องทางอี-คอมเมิร์ซ จับตลาดคนรุ่นใหม่ พร้อมแตกแพ็กไซซ์สินค้าเล็กลง ให้ลูกค้าจับต้องได้ง่าย หวังปีหน้าทำสัดส่วนรายได้ 1 ใน 3 และดันภาพรวมเติบโต 20%

นายองอาจ ประภากมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรูจีเอส จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจโฮมช็อปปิ้งทรูช้อปปิ้ง เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2561 ว่า จะใช้กลยุทธ์ทางด้านสินค้า และการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายไปถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งพบว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่นิยมดูโทรทัศน์ แต่จะรับข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก เพื่อสร้างการเติบโตในปีหน้าในอัตรา 20% จากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในปีนี้ ที่คาดว่าจะเติบโตประมาณ 10%

[caption id="attachment_237876" align="aligncenter" width="503"] องอาจ ประภากมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรูจีเอส จำกัด องอาจ ประภากมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรูจีเอส จำกัด[/caption]

ทั้งนี้ ธุรกิจโฮมช็อปปิ้งกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ที่ผู้บริโภคไม่ได้ดูทีวีเป็นหลัก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ แม้ว่าตลาดคนดูยังมีอยู่ก็ตาม ธุรกิจค้าปลีกก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่ท้าทายธุรกิจโฮมช็อปป้งและทีวีช็อปปิ้ง คือ การทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสสินค้า ซึ่งลักษณะสินค้าที่ขายผ่านช่องทางทีวีช็อปปิ้งและโฮมช็อปปิ้ง จะเน้นความคุ้มค่าจากการขายสินค้าเป็นแพ็ก ทำให้ซื้อแล้วจะคุ้มค่า กว่าการซื้อผ่านช่องทางรีเทล แต่จาก ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้การซื้อสินค้าต่อครั้งมีเม็ดเงินที่ลดลง โดยปัจจุบันทรูช้อปปิ้งมีผู้ซื้อ สินค้าเฉลี่ยต่อบิล 2,000 บาท

สิ่งที่ท้าทายและเป็นโจทย์ที่ทรูช้อปปิ้งจะต้องแก้ คือ ทำให้คนมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางของทรูช้อปปิ้ง ที่ล่าสุดได้ขยายไปยังช่องทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ แอพพลิเคชัน รวมถึงการนำสินค้าไปจัดจำหน่ายผ่านช่องทางมาร์เก็ตเพลส อาทิ ลาซาด้า อีเลเว่นสตรีท เป็นต้น โดยการนำสินค้าแพ็กไซซ์ที่เล็กลง หรือการขายสินค้าเป็นชิ้นๆ เข้าไปจัดจำหน่าย เพื่อให้เหมาะสมกับช่องทางดังกล่าว และสอดคล้องกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และอี-คอมเมิร์ซต่างๆ ด้วย

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 “ความท้าทายในการทำตลาดปัจจุบัน คือ การทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงสินค้าและมาซื้อสินค้าของเรา ผ่านช่องทางอี-คอม เมิร์ซและออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ โดยบริษัทได้แตกแพ็กสินค้าออกเป็นชิ้นๆ เพื่อให้ซื้อได้ง่ายแต่ยังมีราคาถูกกว่าช่องทางค้าปลีก ขณะที่ช่องทางทีวีช็อปปิ้งและโฮมช็อปปิ้งยังขายเป็น
แพ็กเพื่อความคุ้มค่า และราคาเฉลี่ยต่อชิ้นถูกกว่าในช่องทางรีเทลด้วย”

สำหรับเป้าหมายการเพิ่มช่องทางออนไลน์และอี-คอมเมิร์ซ บริษัทคาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้ 1 ใน 3 ของรายได้รวมในช่วงปีหน้านี้ ส่วนสินค้าที่ขายดียังคงเป็นกลุ่มบิวตี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสินค้าแฟชั่น โดยเป็นสินค้าแบรนด์ลูกค้าและซัพพลายเออร์ ในส่วนแบรนด์ที่บริษัทนำเข้ามาจากต่างประเทศ อาทิ ประเทศ เกาหลี จะมีสัดส่วนประมาณ 5%

นายองอาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนแนวโน้มการเติบโตของตลาดโฮมช็อปปิ้งในปัจจุบัน คาดว่าจะเติบโตในอัตราเลขตัวเดียว จากมูลค่าตลาดรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา และคาดการณ์จะเติบโตเพิ่มเป็นเท่าตัวในปี 2565 ในอัตรากว่า 15-20% ทุกปี ซึ่งเป็นไปตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ที่ต้องการความ สะดวกสบายในการซื้อสินค้า ขณะเดียวกันยังมีระบบการรับประกันสินค้า และการคืนสินค้า ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจและเลือกซื้อสินค้าจากช่องทางโฮมช็อปปิ้งและทีวีช็อปปิ้งเพิ่มมากขึ้นด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,319 วันที่ 3 - 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว