‘มิตซูบิชิ’ลุยปลั๊ก-อินไฮบริด ยื่นบีโอไอปีหน้า

06 ธ.ค. 2560 | 09:04 น.
ค่ายรถญี่ปุ่น ตบเท้าลุยเทคโนโลยีไฮบริด ปลั๊ก-อินไฮบริด และอีวี กันคึกคัก แม้ใน 2 ประเภทหลังยังไม่มีรถทำตลาด แต่ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจน ล่าสุดประธาน มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ประกาศว่ากำลังร่างแผนงาน “รถปลั๊ก-อินไฮบริด” พร้อมยื่นแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนให้รัฐบาลภายในปีหน้าตามเส้นตาย

หลังจากบีโอไอออกเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนรถพลังงานไฟฟ้า (อีวี) ไฮบริด และปลั๊ก-อินไฮบริดซึ่งค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นเริ่มตอบสนองกับแนวทางนี้ ประเดิมด้วย “โตโยต้า” ที่ประกาศลงทุน 2 หมื่นล้านบาทกับการขยายศักยภาพในการผลิตรถไฮบริดในประเทศไทย ซึ่งโมเดลแรกในแพ็กเกจนี้คือครอสโอเวอร์รุ่น“ซี-เอชอาร์” จ่อทำตลาดในปีหน้า

ล่าสุดมิตซูบิชิมอเตอร์ส ประเทศไทย โดยกรรมการผู้จัดการใหญ่ “โมริคาซุ ชกคิ” ยืนยันในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2017 ว่า ตอนนี้กำลังร่างโรดแมปรถพลังงานไฟฟ้าอยู่ แต่ด้วยความถนัดของมิตซูบิชิจะขอมุ่งไปที่เทคโนโลยีปลั๊ก-อินไฮบริด พร้อมยื่นรายละเอียดขอส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลไทยภายในปี 2561

“เราเชื่อว่าในระยะยาว กระแสรถพลังงานไฟฟ้าจะมาแน่นอน แต่ประเทศไทยต้องเตรียมระบบสาธารณูป โภคขั้นพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จไฟให้พร้อม ซึ่งรถแบบปลั๊ก-อินไฮบริด จะมีโอกาสในการทำตลาดให้แพร่หลายได้มากกว่าอีวี”

สำหรับเทคโนโลยีปลั๊ก-อินไฮบริด เป็นสิ่งที่มิตซูบิชิมีความแข็งแกร่ง แต่กระนั้นราคาขายอาจจะสูงถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยมิตซูบิชิมีรถที่ขายดีทั้งในยุโรปและญี่ปุ่น คือ เอาต์แลนเดอร์ ปลั๊ก-อินไฮบริด

ด้านนิสสัน ที่เคยประกาศชัดเจนว่าจะนำรถพลังงานไฟฟ้า “ลีฟ โฉมใหม่”เข้ามาขายในประเทศไทย และนำรถรุ่นนี้เข้ามาโชว์ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2017 แต่ยังไม่ประกาศราคา โดย “อันตวน บาร์เตส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า นิสสันอยู่ในระหว่างการศึกษาและ
พิจารณาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความต้องการของลูกค้า และราคา ขณะเดียวกันได้มีเข้าไปพูดคุยกับรัฐบาลเพื่ออธิบายให้เข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี อี-พาวเวอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเอกสิทธิ์เฉพาะ นิสสัน

mp33-3319-1a “แม้เรายังไม่สามารถเปิดเผยราคารถในงานนี้ได้ แต่เราได้นำรถพลังงานไฟฟ้าและอี-พาวเวอร์มานำเสนอให้ทุกคนได้เห็นเทคโนโลยีว่ามันมีหลายสเต็ป และเราพยายามอย่างเต็มที่ในการเลือกผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าในประเทศไทยซึ่งการพิจารณาต่างๆยังต้องใช้เวลาอีกสักนิด”

เมื่อถามว่าไทยพร้อมหรือยังสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ในแง่ลูกค้าต้องตอบว่ายัง แต่ถ้าถามถึงประโยชน์นิสสันต้องบอกว่าพร้อม แต่รถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่ทุกคำตอบในการใช้งาน โดยรถแบบนี้จะเหมาะกับการใช้งานในเมืองใหญ่ และอาจจะไม่เหมาะสมกับการเดินทางระยะไกลๆในต่างจังหวัด เนื่องจากต้องคำนึงถึงระยะทางวิ่งและการชาร์จไฟ

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2 “แผนระยะยาวของอี-พาวเวอร์ เรามีแน่นอนอยู่แล้ว หากมีความต้องการเราก็พร้อมตอบสนอง ประกอบกับเรามีโรงงานในประเทศไทย 2 แห่ง ซึ่งในระยะยาวจะต้องมีการใช้ศักยภาพของโรงงานให้เต็มที่และคุ้มค่าที่สุด”นายบาร์เตส กล่าว
ส่วนค่ายรถยนต์อเมริกัน ที่มีแนวคิดต่างจากญี่ปุ่น ทั้งกลยุทธ์การตลาดและการวางแผนโปรดักต์ ปัจจุบันมีปิกอัพและพีพีวี ที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อขายในประเทศและส่งออก อย่างเป็นลํ่าเป็นสัน

นางสาวยุคนธร วิเศษโกสิน ประธาน ฟอร์ด อาเซียน และ กรรมการผู้จัดการฟอร์ด ประเทศไทย เปิดเผยว่า ฟอร์ดไม่มีแผนยื่นเรื่องขอรับการส่งเสริมการลงทุนในส่วนของรถไฮบริด เนื่องจากต้องศึกษาถึงความคุ้มค่าในการลงทุนว่ามีมากน้อยแค่ไหน เช่นเดียวกับความต้องการของตลาด รวมถึงความชัดเจนในนโยบายของภาครัฐ

“ฟอร์ดไม่ได้ลงทะเบียนขอรับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่โครงการอีโคคาร์ ส่วนประเด็นของไฮบริดที่จะสิ้นสุดปลายปีนี้ ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือน เราก็ไม่ได้ยื่น”นางสาวยุคนธร กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,319 วันที่ 3 - 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว