นโยบายสนับสนุนการเกษตรของไนจีเรีย กับโอกาสผู้ประกอบการไทย

04 ธ.ค. 2560 | 23:15 น.
TP10-3319-2C ไนจีเรีย เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในทวีปแอฟริกา ด้วยจำนวนประชากรกว่า 186 ล้านคน และขนาดพื้นที่กว่า 923,773 ตร.กม. ส่งผลให้ไนจีเรียเป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่และมีพื้นที่การใช้ประโยชน์สำหรับภาคอุตสาหกรรมอย่างมหาศาล ที่ผ่านมาไนจีเรียเป็นประเทศที่ยังใช้ประโยชน์จากการมีพื้นที่ขนาดใหญ่ได้ไม่มากนัก เนื่องจากมุ่งให้ความสำคัญกับภาคพลังงานนํ้ามัน ซึ่งถือเป็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญอันดับ 1 ของประเทศ ด้วยกำลังการผลิต 2.2 ล้านบาร์เรล/วัน และมีรายได้จากการส่งออกนํ้ามันดิบกว่า 95% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.442 ล้านล้านไนรา (ประมาณ 6,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่เมื่อสถาน การณ์โลกด้านราคานํ้ามันใน
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีความผันผวน ส่งผลให้ไนจีเรียต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

TP10-3319-1C แม้ว่าเศรษฐกิจของไนจีเรียจะพึ่งพารายได้จากการส่งออกนํ้ามันดิบเป็นหลักมาโดยตลอด แต่ล่าสุดนายมูฮัมมาดู บูฮารี (Muhammadu Buhari) ประธานาธิบดีของไนจีเรีย ได้นำเสนอร่างงบประมาณแห่งชาติประจำปี 2561 เข้าสู่รัฐสภาไนจีเรีย เพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณจำนวนกว่า 8.612 ล้านล้านไนรา (ประมาณ 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยสิ่งที่น่าสนใจในร่างงบประมาณดังกล่าว คือ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณกว่า 30% หรือประมาณ 2.652 ล้านล้านไนรา (ราว 7,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ไปในภาคการลงทุนโดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนภาคเกษตรกรรม พลังงาน การคมนาคมขนส่ง และสาธารณูปโภค ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไนจีเรียมีความตั้งใจจริงที่จะพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ สร้างงาน และปรับปรุงสาธารณูปโภคด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า เพื่อเอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ

ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ Nation Bureau of Statistics (NBS) ของไนจีเรีย พบว่า มูลค่าการส่งออกของไนจีเรียในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 มีมูลค่าอยู่ที่ 179.79 พันล้านไนรา (ประมาณ 498 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สูงกว่าช่วงเดียวกันเมื่อปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 76.76 พันล้านไนรา (ประมาณ 212 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และมูลค่าการนำเข้าของไนจีเรียในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 อยู่ที่ 2.23 ล้านล้านไนรา (ประมาณ 6,170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ตํ่ากว่าช่วงเดียวกันเมื่อปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 2.37 ล้านล้านไนรา (ประมาณ 6,565 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) 
และในปีงบประมาณ 2561 เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไนจีเรียตั้งเป้าว่า รายได้งบประมาณจากภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มิใช่จากนํ้ามันดิบจะมากถึง 4.165 ล้านล้านไนรา (ประมาณ 11,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 จากนโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจข้างต้น ทำให้ไนจีเรียกลายเป็นหนึ่งในประเทศเนื้อหอมที่นักลงทุนจากต่างประเทศ อาทิ รัสเซีย จีน สโลวาเกีย เบลารุส และไทย อยากที่จะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่นํ้ามัน (non-oil sector) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมเทคโนโลยีการเกษตร และเครื่องจักรกลการเกษตร อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไนจีเรียจะเคยเป็นตลาดการส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทย ในทวีปแอฟริกา แต่ด้วยนโยบายการลดการนำเข้าอาหารและสร้างความมั่นคงทางอาหารจึงทำให้ปัจจุบันมีการส่งออกข้าวไปยังไนจีเรียน้อยลง อย่างไรก็ดี ไทยสามารถสร้างความร่วมมือเพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าวของไนจีเรีย ทั้งการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีการผลิตข้าว เครื่องจักรกลการเกษตร การพัฒนาพันธุ์ข้าว และโครงการฝึกอบรมบุคลากรของไนจีเรียได้แม้ว่าจะต้องแข่งขันกับสินค้าจากจีนและเบลารุสที่เปิดตลาดมาก่อนก็ตาม แต่ชาวไนจีเรียนิยมบริโภคข้าวไทยมานานจึงทำให้ข้าวไทยเป็นสินค้าที่น่าเชื่อถือในตลาดไนจีเรีย

ไทยเองก็มีโอกาสที่จะเป็นประเทศผู้ส่งออกเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรในตลาดไนจีเรียได้ ในฐานะที่ไทยมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญในการพัฒนาด้านการเกษตรโดยเฉพาะข้าว อีกทั้งยังมีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยที่ผลิตเครื่องมือการเกษตรด้วยเทคโนโลยีของตนเองสามารถส่งออกไปยังไนจีเรีย รวมทั้งส่งเสริมบุคลากรของไทยไปให้ความรู้ หรือให้คำปรึกษาในการปรับใช้เครื่องจักรกลการเกษตรดังกล่าว เพื่อนำไปปรับใช้ในภาคการเกษตรของไนจีเรียให้มีประสิทธิภาพเพิ่มยิ่งขึ้น เพื่อลดการนำเข้าสินค้าเกษตรต่างๆ ที่ไนจีเรียสามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ

การค้าระหว่างไทย-ไนจีเรีย ในปี 2559 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 235 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยส่งออก 188 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และไทยนำเข้าจากไนจีเรีย 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ เม็ดพลาสติก ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากไนจีเรีย ได้แก่ นํ้ามันดิบ สินแร่โลหะ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี ด้ายและเส้นใย ไม้ซุง ไม้แปรรูป เป็นต้น

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,319 วันที่ 3 - 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว