ผ่าร่างกฎหมาย คุ้มครองผู้บริโภค‘รถยนต์-มือถือ’ ชำรุดเปลี่ยนได้

03 ธ.ค. 2560 | 12:42 น.
หลักกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่ใช้บังคับในปัจจุบัน เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากเสรีภาพของบุคคลตามหลักความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนา รัฐไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ แต่ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่าได้อาศัยหลักการดังกล่าวเอาเปรียบผู้บริโภคก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม และสินค้าจำนวนมากในปัจจุบันถูกผลิต ขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ประชาชนทั่วไปไม่อาจทราบถึงความชำรุดบกพร่องได้โดยง่าย ยิ่งทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภคมากขึ้น จำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า กำหนดสิทธิและหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่ายให้ชัดเจนเพื่อให้ทั้งผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภคสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

++6 เดือนเสียผู้บริโภคไม่ผิด
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมาจึงได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าพ.ศ. ... ซึ่งเสนอโดย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งมีทั้งหมดรวม 16 มาตราด้วยกัน

[caption id="attachment_215340" align="aligncenter" width="503"] natta ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์[/caption]

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้าจะอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่มีกฎหมายเฉพาะที่มาดูแลในเรื่องนี้ และที่ผ่านมาในอดีตสินค้าไม่มีความสลับซับซ้อนเหมือนปัจจุบัน เช่น รถยนต์หรือโทรศัพท์มือถือที่ต้องใช้ไปก่อนระยะหนึ่งจะเห็นว่าสินค้าผิดปกติจึงได้มีการเสนอร่างฉบับนี้ขึ้น

สาระสำคัญ คือ กำหนดให้ผู้บริโภคเช่าซื้อสิทธิเช่นเดียวกับผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อ เช่น กรณีที่คนที่ซื้อสินค้าโดยชำระเป็นเงินผ่อนกับธนาคาร อาทิ รถยนต์ ชื่อของรถยังเป็นของธนาคารอยู่แต่เมื่อมีปัญหาผู้ใช้รถไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดให้ผู้เช่าซื้อ และสถาบันการเงินในฐานะผู้ซื้อและเจ้าของกรรมสิทธิ์จะต้องโอนสิทธิทั้งหลายให้แก่ผู้บริโภคเพื่อที่ผู้บริโภคซึ่งเป็นเพียงผู้ใช้สินค้าจะได้มีสิทธิเรียกร้องกับผู้ค้าได้โดยตรง ทั้งยังมีการกำหนดความหมายของสินค้าชำรุดบกพร่องให้ชัดเจน

อย่างไรก็ดี ในร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีบทยกเว้นความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจในกรณีที่ผู้บริโภครู้อยู่แล้วว่า สินค้ามีความชำรุดบกพร่อง เช่น กรณีนำมาขายลดราคา หรือเป็นสินค้าที่มาจากการขายทอดตลาดตามคำบังคับของศาล และกำหนดบทสันนิษฐานความชำรุดบกพร่อง หากสินค้าเสียหายภายใน 6 เดือน ให้สันนิษฐานว่า บกพร่องมาจากโรงงานไม่ใช่ความผิดของผู้บริโภค โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้พิสูจน์ว่า สินค้าไม่ได้ชำรุดบกพร่อง และมีอายุความการใช้สิทธิเรียกร้อง 2 ปีนับตั้งแต่วันที่ผู้บริโภคได้ทราบถึงความชำรุดบกพร่องของสินค้า

ทั้งนี้ เนื่องจากยังคงเป็นเพียงร่างกฎหมายจะต้องผ่านกฤษฎีกาและอาจจะต้องระบุรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น ระยะเวลา 6 เดือนคงไม่ครอบคลุมสินค้าทุกประเภท สินค้าบางชนิดไม่มีความซับซ้อนอาจจะให้เวลาน้อยกว่านั้นเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการได้รับผลเสียมากเกินไป นายณัฐพร ระบุ

++“ชำรุดเล็กน้อย”นิยามให้ชัด
สำหรับหลักการในร่างกฎหมายฉบับนี้นั้น ส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องต่างเห็นด้วยในหลักการ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงสำนักงานศาลยุติธรรม แต่ได้ให้ข้อสังเกตตรงกันว่า การที่ไม่ได้นิยามความหมายของคำว่า “ความชำรุดบกพร่องเพียงเล็กน้อย” ไว้อย่างชัดเจน อาจทำให้เกิดปัญหาการตีความ และเป็นเหตุให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการเยียวยาในความชำรุดบกพร่องของสินค้าได้

TP14-3319-B ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ระบุ “ความชำรุดบกพร่อง” ไว้ 2 กรณี คือ

1.สินค้านั้นแตกต่างออก ไปจากข้อตกลงที่เห็นเป็นประจักษ์ชัดแจ้งในสัญญาหรือความมุ่งหมายที่จะใช้ประโยชน์จากสินค้าที่ปรากฏในสัญญา แตกต่างจากสภาพปกติธรรมดาของสินค้า หรือแตกต่างจากการใช้ประโยชน์จากสินค้าตามปกติ โดยคุณ สมบัติของสินค้าตามสัญญาหรือตามปกติวิสัยข้างต้นให้รวมถึงคุณสมบัติที่ผู้บริโภคสามารถคาดหมายได้อันเนื่องมาจากการได้รับข้อมูลที่เผยแพร่ให้สาธารณชนทราบจากผู้ขาย ผู้ผลิตหรือบุคคลอื่นใดที่อยู่ใน ความรับผิดชอบของผู้ขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ข้อมูลที่ปรากฏในคำโฆษณาหรือจากการกำหนดคุณสมบัติที่เฉพาะเจาะจงของสินค้า เว้นแต่ผู้ขายจะไม่รู้หรือไม่ควรรู้เกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าวว่า ในขณะที่มีการตกลงทำสัญญาต่อกันนั้นได้มีการแก้ไขข้อมูลเช่นว่านั้นในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับการที่ได้เผยแพร่ให้สาธารณชนทราบแล้ว หรือข้อมูลนั้นไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจในการซื้อสินค้าดังกล่าว

2.ความชำรุดบกพร่องจากการติดตั้งหรือประกอบสินค้าของผู้ประกอบธุรกิจ หรือเกิดจากการติดตั้งหรือประกอบสินค้า ตามคู่มือการติดตั้งหรือประกอบสินค้า หรือการส่งมอบสินค้าผิดประเภทหรือน้อยกว่าจำนวนที่ตกลงกันไว้

ดังนั้น หากผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาแล้วว่า ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นเป็นความชำรุดบกพร่องเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะเป็นไปตามเงื่อนไขในมาตรา 8 ที่ระบุไว้ว่า ไม่ให้ผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญาหรือขอลดราคาตามสภาพ หากความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นเป็นความชำรุดบกพร่องเพียงเล็กน้อย

นอกจากนี้ทั้งในร่างมาตรา 6 (4) ยังกำหนด ยํ้าเอาไว้ด้วยว่า ผู้บริโภคจะใช้สิทธินั้นได้ก็ต่อเมื่อผู้บริโภคได้ ใช้สิทธิเรียกร้องให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงสินค้าไปก่อนแล้ว เว้นแต่ผู้ประกอบธุรกิจปฏิเสธที่จะซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่องเพียงเล็กน้อย หรือหากมีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงสินค้าแล้ว ยังคงมีความชำรุดบกพร่องเพียงเล็กน้อย ผู้บริโภคก็ไม่สามารถที่จะใช้สิทธิเลิกสัญญาหรือขอลดราคาตามสภาพได้

และร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดบทเฉพาะกาลให้ชัดเจนว่า จะใช้บังคับหรือไม่ใช้บังคับกับสินค้าที่ได้ขายแก่ผู้บริโภคก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ซึ่งจะทำให้เกิดการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจได้ ต่างจากพ.ร.บ. ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ที่กำหนดไว้ชัดเจนในมาตรา 15 ว่า สินค้าใดที่ได้ขายแก่ผู้บริโภคก่อนวันที่กฎหมายนี้มีผลใช้บังคับไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัตินี้

++ปี60ทำสถิติ ร้องเรียนสูงสุด
จากการตรวจสอบสถิติรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคของ สคบ. ในปีงบประมาณ 2560 (ระหว่างเดือนตุลาคม 2559-กันยายน 2560) ตัวเลขเรื่องร้องเรียนทำสถิติสูงสุดอยู่ที่ 8,461 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ตุลาคม) โดย 5 อันดับแรกคือ กลุ่มของอสังหาริมทรัพย์ และที่อยู่อาศัย จำนวน 3,184 ราย ซึ่งสาเหตุมาจากการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ไม่คืนเงิน มัดจำ และค่าจอง มีการชำรุดหลังปลูกสร้าง ก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแปลนที่ได้รับอนุญาต เป็นต้น ถัดมาคือ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค จำนวน 2,215 ราย อาทิ การไม่ได้รับความเป็นธรรม สินค้าชำรุด สั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า ผิดไปจากฉลากที่ระบุ และโฆษณาเกินความเป็นจริง เป็นต้น ต่อด้วยกลุ่มบริการ จำนวน 1,558 ราย สาเหตุการร้องเรียน อาทิ การทำผิดสัญญา ราคาไม่เหมาะสม ไม่ได้รับความเป็นธรรม และค่าบริการเกินจริง เป็นต้น กลุ่มยานพาหนะ จำนวน 877 ราย สาเหตุการร้องเรียน อาทิ มีการชำรุด ไม่ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ และขอเงินจองคืนกรณีไม่ได้รถ เป็นต้น ขณะที่สถิติร้องเรียนการท่องเที่ยวและการเดินทาง มีประมาณ 412 ราย สาเหตุการร้องเรียน อาทิ โฆษณาเกินความเป็นจริง และผู้โดยสารไม่สามารถเดินทางได้ เป็นต้น

ขณะที่หากย้อนหลังไป นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557-2560 กลุ่มอสังหาริมทรัพย์-ที่อยู่อาศัย มีสถิติการร้องเรียนสูงสุดมาโดยตลอดทั้งยังมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2557 มีสถิติร้องเรียนอยู่ที่ 1,843 ราย ในปี 2558 ขยับขึ้นมาเป็น 2,300 ราย ในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 2,167 ราย และในปี 2560 มีจำนวน 3,184 ราย ขณะที่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคมีตัวเลขขยับขึ้นเช่นกัน โดยในปี 2557 มีจำนวน 1,522 ราย ปี 2558 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 1,698 ราย และปี 2559 จำนวน 1,871 ราย ตามลำดับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,319 วันที่ 3 - 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว