สนช.รับหลักการร่างก.ม.ลูกเลือกตั้งส.ส. 188 เสียง

30 พ.ย. 2560 | 09:47 น.
สนช. มีมติรับหลักการร่างกฎหมาลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ด้วยคะแนน 188 เสียง วางแนวทางการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

 

-30 พ.ย.60-ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ. .... ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้เสนอ ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเห็นด้วย 188 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 5 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 33 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน กรอบระยะเวลาดำเนินการ ภายใน 58 วัน

[caption id="attachment_237270" align="aligncenter" width="394"] นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายมีชัย ฤชุพันธุ์[/caption]

โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวชี้แจงว่า กรธ.ได้พิจารณาร่างกฎหมายลูกดังกล่าว โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั้ง 4 ภาค และการเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาร่วมพิจารณาตั้งแต่ต้น เพื่อนำข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับแนวคิดของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มากที่สุด โดยการปรับแก้สาระสำคัญส่วนใหญ่เป็นเรื่องแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อาทิ การใช้สิทธิเลือกตั้ง กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรมให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม หากผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิโดยไม่มีเหตุอันสมควรจะถูกจำกัดสิทธิ การยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. และสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น เป็นเวลา 2 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง และกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ต้องแสดงหลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี เว้นแต่เป็นผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ให้ทำหนังสือยืนยันการไม่ได้เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุ

ขณะที่การกำหนดหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.จะแตกต่างกันไปในแต่ละเขตเลือกตั้ง รวมทั้งกำหนดให้มีการนับคะแนนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนในช่องทำเครื่องหมาย “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” ด้วย เพื่อให้เป็นไปตามกลไกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่ระบุให้คะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนมีความหมาย ขณะเดียวกันหากในเขตเลือกตั้งใดที่ไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด ผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดในเขตนั้นจะไม่มีสิทธิได้รับเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่ในคราวนั้นด้วย

นอกจากนี้ กรธ.ยังได้กำหนดให้คณะกรรมการและ กกต. มีอำนาจตรวจสอบการเลือกตั้งในเชิงรุกมากขึ้น โดยมีอำนาจสั่งยับยั้ง หรือยกเลิกการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ หากพบว่ามีการดำเนินการใดๆ ที่ทำให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม พร้อมทั้งบัญญัติบทกำหนดโทษกรณีกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้งไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่ระบุว่า ต้องไม่เป็นบุคคลที่เคยถูกลงโทษว่ากระทำการทุจริตต่อการเลือกตั้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นความชัดเจน หากฝ่าฝืนจะถูกตัดสิทธิ ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว