‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ รอทำคลอด ‘เขตอีอีซี’ พุ่ง!

01 ธ.ค. 2560 | 10:53 น.
1743

แย้ม “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ถกก่อนเคาะ 13 ธ.ค. เฉลี่ยปรับขึ้นน้อยกว่าปี 60 ยกเว้น เขตเศรษฐกิจ “อีอีซี” จ่ายสูงกว่าจังหวัดอื่น ดีเดย์! มีผล 1 ม.ค. นี้

นายวัลลภ กิ่งชาญศิลป์ ผู้แทนนายจ้างในคณะกรรมการค่าจ้าง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ค่าจ้างปี 2561 โดยภาพรวมตามที่อนุกรรมการกลั่นกรองเสนอจะอยู่ในช่วง 5-10 บาท โดยค่าแรงในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะจ่ายสูงกว่า คาดจะได้ข้อสรุปในการประชุมบอร์ดค่าจ้าง วันที่ 13 ธ.ค. 2560 นี้

บอร์ดค่าจ้างเห็นตรงกันว่า จะให้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ประกาศทันวันที่ 1 ม.ค. 2561 แต่เนื่องจากบอร์ดค่าจ้างเป็นชุดรักษาการ ส่วนชุดใหม่ (คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 20) ได้เลือกตั้งไปแล้ว ขณะนี้รอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนาม ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)

 

[caption id="attachment_237008" align="aligncenter" width="503"] พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว[/caption]

“หลัง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะมีการลงนามและเสนอ ครม. เร็ว ๆ นี้ เพราะผ่านอนุกรรมการกลั่นกรองตามที่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด (ตัวแทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง) แต่ละจังหวัดเสนอเข้ามา แต่หากบอร์ดชุดใหม่ติดขัด ชุดรักษาการก็จะทำต่อให้จบ เพื่อให้ทันประกาศใช้วันที่ 1 ม.ค. 2561 เพราะมติบอร์ดค่าจ้างถือเป็นที่สิ้นสุดแล้ว”

ด้าน นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การพิจารณาต้องดำเนินให้รอบคอบ เพราะอาจกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายอรรถยุทธ์ ลียะวณิช ผู้แทนนายจ้างในคณะกรรมการค่าจ้าง หนึ่งในบอร์ดค่าจ้างชุดใหม่ กล่าวว่า การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 กำหนดเป็นรายจังหวัด แต่สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะพิจารณาเป็นโซนนิ่ง คือ ปรับขึ้นอัตราเท่ากัน ซึ่งการประชุมของบอร์ดที่ผ่านมา (23 พ.ย. 60) แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่จะพยายามให้ทันประกาศใช้วันที่ 1 ม.ค. 2561


บาร์ไลน์ฐาน

ขณะที่ นายสมบัติ น้อยหว้า ตัวแทนลูกจ้างในคณะกรรมการค่าจ้าง มองว่า เมื่อพิจารณาตามสูตรคำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI), ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และจังหวัด (GPP) ทำให้ค่าจ้างปี 2561 ถัวเฉลี่ยอาจปรับขึ้นน้อยกว่าปี 2560 (ปี 2560 ปรับขึ้น 0, 5 , 8 และ 10 บาท) และข้อมูลของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองตามที่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดส่งมา พบว่า เกินกว่ากึ่งหนึ่ง ไม่ปรับขึ้นค่าจ้าง เนื่องจากเห็นว่า เศรษฐกิจเพิ่งฟื้น การขึ้นค่าจ้างอาจกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน

อีกทั้งตัวเลขเสนอเข้ามามีความแตกต่างกันมาก อาทิ โซนปริมณฑล เช่น จังหวัดหนึ่งขอปรับขึ้น 21 บาท แต่อีกจังหวัดปรับขึ้นเพียง 1 บาท  หรือไม่ปรับขึ้นเลย จะหาคำตอบอย่างไร ดังนั้น ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้าง จึงต้องการให้พิจารณาอย่างรอบคอบ คำตอบต้องมีเหตุผลรองรับได้

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 จะอยู่ในช่วง 0-7 บาท เพราะเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็ยังต่ำ คือ ปี 2560 และ 2561 อยู่ที่ 0.7% และ 1.0% สูตรคำนวณค่าจ้างในหลายจังหวัดจึงยังคงอัตราค่าจ้าง โดยไม่มีการปรับขึ้น


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,318 วันที่ 30 พ.ย. - 2 ธ.ค. 2560 หน้า 01 และ 02

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก