ยื้อโอนเงินบล็อกเชน ธปท.ตั้ง3กฎเข้ม BAYเล็งขยายCtoC

03 ธ.ค. 2560 | 04:53 น.
แบงก์ชาติยื้อปล่อยบริการโอนเงินผ่านบล็อกเชนของ“กรุงศรีอยุธยา-ไทยพาณิชย์”ที่เข้าทดสอบในแซนด์บ็อกซ์พร้อมวาง 3 กฎเหล็ก “ความปลอดภัย มาตรการรองรับ และคุ้มครองผู้บริโภค” แบงก์กรุงศรีฯเผยผลตอบรับดี จ่อขยายธุรกรรมโอนเงินแบบลูกค้าสู่ลูกค้า

นายบัญชา มนูญกุลชัย ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความคืบหน้านวัตกรรมทางการเงิน ที่อยู่ในศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (Regulatory Sandbox) มีอยู่หลายประเภท เช่น บล็อกเชนระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ 2 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารไทยพาณิชย์ จะเห็นว่าผลการทดสอบในเฟสแรกค่อนข้างดีมาก ซึ่งธปท.ได้รับรายงานจากธนาคารจะเห็นว่ามีปริมาณธุรกรรมเกิดขึ้นพอสมควร ธุรกรรมทำได้รวดเร็วขึ้น แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่วงจำกัด ลูกค้าจำกัดและประเทศคู่ค้าที่โอนเงินระหว่างกันยังคงจำกัดก็ตาม

[caption id="attachment_236684" align="aligncenter" width="503"] บัญชา มนูญกุลชัย ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บัญชา มนูญกุลชัย ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)[/caption]

อย่างไรก็ตามการจะเปิดให้บริการในวงกว้างเมื่อออกจาก Sandbox นั้น อาจจะต้องมีการทดสอบและเตรียมตัวนานขึ้น เนื่องจากระบบปฏิบัติการจะต้องมีความพร้อมรองรับปริมาณธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นในจำนวนมหาศาลและธุรกรรมที่เกิดขึ้นจะต้องไม่สะดุดระหว่างทาง

ดังนั้นการพิจารณาออกจาก Sandbox อาจจะต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของธนาคารพาณิชย์ด้วย แต่ตัววัดของธปท.ที่ใช้พิจารณาจะมี 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. ความเสี่ยงเชิงระบบ ระบบจะต้องปลอดภัยมีมาตรฐาน และไม่สะดุด 2. เชิงความเสี่ยง ต้องประเมินความเสี่ยงให้ได้และมีมาตรฐานรองรับ และ 3. การดูแลคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อเกิดปัญหาจะต้องแก้ไขให้ได้ ทั้งนี้หากธนาคารสามารถปฏิบัติได้คาดว่าจะสามารถออกจาก Sandbox ได้

“ระยะเวลาที่การออกจาก Sandbox ของบล็อกเชนการโอนเงินระหว่างประเทศ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับธปท.อย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของธนาคารที่จะทำด้วย เพราะจะต้องมีการลงทุนเรื่องระบบที่จะรองรับปริมาณธุรกรรมภายหลังจากออกแซนด์บ็อกซ์ที่จะกว้างขึ้น ธุรกรรมมากขึ้นจะต้องมีระบบที่เสถียรรองรับได้ แต่ช่วงทดสอบการเทสต์ผลออกมาค่อนข้างดีมาก”

บาร์ไลน์ฐาน ส่วนนวัตกรรมอื่นที่ยังอยู่ใน Sandbox คือบล็อกเชนการออกหนังสือคํ้าประกัน(L/G) 1 ราย ได้แก่ ธนาคาร กสิกรไทย (KBANK) ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ค่อนข้างซับซ้อน จึงจะต้องทดลองหลายขั้นตอน แต่ปัจจุบันการทดลองได้ผ่านเฟสแรกไปแล้ว คือ การตรวจสอบหนังสือ L/G เฟสต่อไปจะเป็นการสร้าง L/G ที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ และเฟสที่ 3 จะเป็นการยกเลิกและต่ออายุ L/G ซึ่งธปท.ต้องการให้ระบบการออกหนังสือ L/G ครบทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นยันจบ (End to End)

รวมถึงนวัตกรรมการพิสูจน์ตัวตนโดยใช้ลักษณะทางชีวภาพของแต่ละบุคคล เช่น ผ่านการสแกนม่านตา ลายนิ้วมือ ใบหน้า เป็นต้น ที่ใช้แทนรหัส Password และนวัตกรรม Open API (Application Programming Interfaces) ช่องทางการเชื่อมต่อระบบหนึ่งไปสู่ระบบอื่นๆ เพื่อทำงานร่วมกัน และ Machine Learning กลไกที่ทำให้เกิดการประมวลผลที่ฉลาดขึ้น และได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น และ Big Data/Data Analytics

“การพิสูจน์ตัวตนมีหลายทางเลือก ไม่เพียงเฉพาะแค่ม่านตาเท่านั้น ยังมีการสแกนนิ้วมื้อและใบหน้า หรือการใช้โอทีพี ส่วนเรื่อง E-KYC ตอนนี้กระทรวงการคลังและกระทรวงดีอี ตั้งคณะกรรมการทำงาน ซึ่งธปท.ก็อยู่ในนั้นก็ทำงานกันอยู่”

[caption id="attachment_118061" align="aligncenter" width="503"] ฐากร ปิยะพันธ์ ฐากร ปิยะพันธ์[/caption]

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิตอลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายหลังธนาคารได้รับอนุมัติจากธปท. นำนวัตกรรมทางการเงินภายใต้เทคโนโลยี Blockchain’s Interledger การโอนเงินระหว่างประเทศแบบ Real Time สำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเข้าทดสอบใน Sandbox ปัจจุบันได้รับผลการตอบรับจากลูกค้าค่อนข้างดี โดยมีธุรกรรมการทดสอบกว่า 4 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าธปท.จะอนุมัติออกจาก Sandbox ได้ภายในเร็วๆ นี้

ธนาคารเตรียมขยายการทดสอบการโอนเงินไปสู่ลูกค้าและลูกค้า หรือ C to C จากปัจจุบันได้เฉพาะธุรกิจและธุรกิจ B to B เท่านั้น รวมถึงจะขยายความร่วมมือกับพันธมิตรอีกจำนวน 4-5 ราย ซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,318
วันที่ 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว