กางแผนกทพ. 2561ปีทองลงทุนทางด่วน

03 ธ.ค. 2560 | 02:44 น.
สถาปนาครบรอบ 45 ปีไปเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมาสำหรับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ปัจจุบันได้เปิดให้บริการทางพิเศษหรือทางด่วนรวม 8 สายทาง 5 ทางเชื่อมต่อ ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก และทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพ มหานคร รวมระยะทาง 224 กิโลเมตร

นอกจากนั้นกทพ.ยังมีแผนพัฒนาโครงการใหม่อีกหลายโครงการ โดยพล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ ประธานกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ให้สัมภาษณ์ในโอกาสสถาปนา45 ปี กทพ. ว่าได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ด้วยการมุ่งเน้นในการพัฒนาเครือข่ายระบบทางพิเศษให้เชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน

ในช่วงที่ผ่านมากทพ.ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางเชื่อมจากทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพ มหานครไปยังทางพิเศษศรีรัชด้านทิศเหนือ (มุ่งไปทางแจ้งวัฒนะ) ระยะทางประมาณ 360 เมตร เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรหนาแน่นบริเวณดังกล่าวโดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคม 2561

นอกจากนี้กทพ.ยังได้นำนวัตกรรมกำแพงกันเสียงจากวัสดุไวนิลที่มีส่วนประกอบของยางพารามาใช้งาน เพื่อสนับสนุนการใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศตามนโยบายของรัฐบาล และนวัตกรรมหุ่นยนต์ตรวจสอบสายเคเบิลของสะพานพระราม 9 มาใช้งานเพื่อการบำรุงรักษาและตรวจสอบโครงสร้าง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน และตรวจสอบสายเคเบิลได้อย่างละเอียดแม่นยำมากขึ้น

[caption id="attachment_236775" align="aligncenter" width="396"] พล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ ประธานกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พล.อ.วิวรรธน์ สุชาติ ประธานกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)[/caption]

++โครงการที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2561
ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก คาดว่าจะมีการทักท้วงจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) บ้างก็คงต้องกลับมาปรับปรุงข้อมูลตามการเสนอความเห็น และโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ลงทุนประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท เร่งเสนอคณะกรรมการร่วมลงทุน(พีพีพี) ตามรูปแบบการเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 รูปแบบแล้วเสร็จ ยังรอผลการพิจารณาผลการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) อยู่ระหว่างการเคลียร์ปัญหาเรื่องการเวนคืนพื้นที่ เช่นเดียวกับการศึกษาโครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ตลอดจนศึกษาแผนแม่บททางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต อีกด้วย

“สิ่งที่จะได้เห็นเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2561(สิงหาคม) คือโครงการศรีรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ที่จะช่วยให้การเดินทางไปยังโซนเหนือของกรุงเทพฯผ่านเส้นทางงามวงศ์วานโดยเฉพาะประชาชนชาวฝั่งธนบุรีได้รับความสะดวกโดยไม่ต้องข้ามสะพานพระราม 8 สะพานกรุงธนบุรี หรือสะพานพระปิ่นเกล้า เช่นเดียวกับเส้นพระราม 3-ดาวคะนอง คืบหน้าไปเยอะแล้ว ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ รออนุมัติประกวดราคาพร้อมเร่งหาที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง คาดว่ามีนาคม-เมษายน 2561 จะประกาศประกวดราคา คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท”

บาร์ไลน์ฐาน ++เปิดแผนรุกทางด่วนในภูมิภาค
ในส่วนการรุกภูมิภาคนั้นมีแผนดำเนินโครงการที่เชียงใหม่และขอนแก่น แต่จากการเปิดรับฟังความเห็นโครงการที่เชียงใหม่พบว่าไม่ได้รับการตอบสนองจากประชาชนอีกทั้งยังมีผลกระทบด้านการเชื่อมต่อกับโครงข่ายอื่นๆ จึงเห็นควรให้ชะลอโครงการเอาไว้ก่อน เช่นเดียวกับขอนแก่นที่จะมีการหารือกับประชาชนในพื้นที่ในเร็วๆนี้ต่อไป

“ยังคงเน้นการพัฒนาโครงการในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล โดยเฉพาะช่วงต่อขยายจากพระราม 2 ทั้งเส้นทางลงสู่ภาคใต้และโซนเหนือของกรุงเทพฯในพื้นที่โซนนนทบุรีผ่านถนนกาญจนาภิเษก แต่ขอเร่งดำเนินการช่วงพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแวนรอบนอกด้านตะวันตกให้แล้วเสร็จก่อนจึงจะเสนอรัฐบาลดำเนินการในส่วนที่เหลือต่อไปให้เชื่อมโยงกัน เพราะต้องการให้พื้นที่กรุงเทพฯสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายให้ครอบคลุมได้มากที่สุด”

วิทยุพลังงาน สำหรับโอกาสครบรอบ 45 ปี กทพ. ได้มอบความสุขให้แก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษ โดยผู้ใช้บริการทางพิเศษสามารถสมัครใช้บัตร Easy Pass ได้เพียงแค่สำรองเงินค่าผ่านทางครั้งแรก 500 บาท โดยไม่มีค่ามัดจำอุปกรณ์ ในระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2561 โดยปัจจุบัน กทพ. มีผู้สมัครใช้บัตร Easy Pass แล้วจำนวนกว่า 1.3 ล้านบัตร

“การดำเนินโครงการหากล่าช้าโอกาสไม่ได้ดำเนินการจะมีสูงมาก เพราะสภาพแวดล้อมหรือชุมชนและงบประมาณจะเพิ่มขึ้น แต่กทพ.ยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร รวมถึงลดการสูญเสียพลังงานและนํ้ามันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดกทพ. ได้เปิดให้บริการทางลงทางพิเศษกาญจนาภิเษกที่ปรับปรุงใหม่ บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบางแก้ว เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้ทางและช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรบริเวณดังกล่าว ซึ่งภายหลังจากการเปิดให้บริการพบว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านฯ บางแก้วและช่วยบรรเทาปัญหาในภาพรวมของระบบทางพิเศษได้เป็นอย่างดี”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,318
วันที่ 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว