เท6.7พันล้านปั้นคนป้อนอีอีซี ผลิตอาชีวะปีละ4หมื่นคน รองรับ10กลุ่มอุตฯเป้าหมาย

02 ธ.ค. 2560 | 06:44 น.
กนศ.ไฟเขียวแผนพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยี อัดงบกว่า 6.7พันล้านบาทช่วง5 ปีรองรับอีอีซี ปั้นอาชีวะปีละ 4 หมื่นคน ใน 10 กลุ่มอุตฯเป้าหมาย หลังพบยังขาดกว่า 1.75 แสนคน โดยเฉพาะรถไฟฟ้าและหุ่นยนต์

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมกนศ. มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัยและเทคโนโลยี ในระยะ 5 ปี (2560-2564) เพื่อรองรับการพัฒนาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ในจำนวน 67 โครงการ วงเงิน 6,780 ล้านบาท แบ่งเป็นระยะเร่งด่วน 34 โครงการและที่เหลือเป็นระยะปานกลาง

[caption id="attachment_221036" align="aligncenter" width="503"] คณิศ แสงสุพรรณ คณิศ แสงสุพรรณ[/caption]

โดยในแผนดังกล่าวต้องการที่จะผลิตกำลังคนให้มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และเพื่อสนับสนุนการวิจัย การสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาเทคโนโลยี นำไปสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายและต่อยอดเชิงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันพบว่า พื้นที่อีอีซียังขาดแรงงานที่ตรงตามความต้องการอีกมาก โดยเฉพาะระดับอาชีวศึกษาในจังหวัดชลบุรี ยังมีความต้องการแรงงานอีก 6.37 หมื่นคน จังหวัดระยอง มีความต้องการ 5.64 หมื่นคน และจังหวัดฉะเชิงเทรา มีความต้องการแรงงาน 5.55 หมื่นคน

ดังนั้น ในแผนปฏิบัติการเร่งด่วนงบประมาณปี 2560-2561 ที่ประชุมกนศ. จึงได้อนุมัติงบประมาณกลางปี 2561 ในกรอบวงเงิน 861.02 ล้านบาท จากทั้งหมด 1,107 ล้านบาท เพื่อจะผลิตครูต้นแบบเทคโนโลยี ในอุตสาหกรรมเป้าหมายราว 150 คน พร้อมทั้งจัดโครงการเด็กและเยาวชนให้ได้รับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และระบบสารสนเทศ อย่างน้อย 4 หมื่นคน รวมถึงจัดโครงการให้เกษตรกรอย่างน้อย 1 หมื่นคน ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี

tp11-3318-a ขณะที่ระยะปานกลาง (2562-2564) ซึ่งจะใช้งบประมาณอีกราว 5,673 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายในช่วง 2 ปีแรก จะจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ และศูนย์บริการ เช่น ศูนย์การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี สารสนเทศ ศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยี IoT และศูนย์ทดสอบใบอนุญาตมาตรฐาน วิชาชีพด้านการออกแบบนวัตกรรมยานยนต์ เป็นต้น อย่างน้อย 10 ศูนย์ รวมทั้งจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน และฝึกอบรมเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 60 หลักสูตร เช่น หลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบสมรรถนะวิชาชีพคลัสเตอร์หุ่นยนต์อุตสาหกรรม หลักสูตรรถยนต์ไฟฟ้าหลักสูตรหุ่นยนต์อุตสาหกรรม หลักสูตรการบินพลเรือน และหลักสูตรการจัดการสมัยใหม่ เป็นต้น

โดยภายใน 5 ปี บุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชนจะผ่านการอบรมหลักสูตรไม่น้อยกว่า 4.2 หมื่นคน เด็ก เยาวชน และผู้ที่เกี่ยวข้องได้เรียนรู้ทักษะการประกอบอาชีพใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และเข้าค่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่า 8 พันคน พร้อมทั้ง จัดทุนการศึกษาระดับปริญญาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่น้อยกว่า 440 ทุน
อีกทั้ง จะผลิตกำลังคนอาชีวะรองรับอีอีซีมากกว่า4หมื่นคนหรือตกปีละ 1 หมื่นคน และมีเป้าหมายที่จะผลิตแรงงานระดับปริญญาตรีด้านรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) และหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจนถึง 350 คนต่อปี รวมทั้งจะร่วมทุนกับบริษัทการบินชั้นนำ ฝึกอบรมนักบินและบุคลากรด้านนักบินไม่น้อยกว่า 1 พันคนต่อปี และช่างซ่อมเครื่องบินเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 500 คนต่อปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,318
วันที่ 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว