ยืด2เดือนลอยตัวน้ำตาล

02 ธ.ค. 2560 | 14:01 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ชงรัฐยืดเวลาลอยตัวนํ้าตาลอีก 2 เดือน คาดเต็มรูปแบบปลายม.ค.61 รอระเบียบก.ม.ออกมารองรับ ชี้หลังลอยตัวราคาหน้าโรงงานไม่น่าเกิน 19 บาทต่อกิโลกรัม ลั่นต้องไม่ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน ผู้ใช้นํ้าตาลห่วงผลกระทบ 4 ด้าน “มิตรผล” ยันนํ้าตาลไม่ขาด ชาวไร่มั่นใจไม่กระทบราคาอ้อย

หนังสือพิมพ์ “ฐานเศรษฐกิจ” จัดเวทีเสวนาโต๊ะกลม “การเปลี่ยนผ่านระบบอ้อยและนํ้าตาลไปสู่การลอยตัว” เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้องประชุมกองบรรณาธิการ ชั้น 25 อาคารเล้าเป้งง้วน 1 ถ.วิภาวดีรังสิต เพื่อประมวลภาพความพร้อมจาก แต่ละภาคส่วนจากตัวแทนโรงงานนํ้าตาล ชาวไร่อ้อย กลุ่มผู้ใช้นํ้าตาลรวม ถึงสำนักบริหารอ้อยและนํ้าตาลทราย หลังจากที่ก่อนหน้านี้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศให้มีการลอยตัวราคานํ้าตาล พร้อมยกเลิกระบบโควตา โดยให้มีผลในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ เป็นต้นไป

[caption id="attachment_237001" align="aligncenter" width="335"] บุญถิ่น โคตรศิริ บุญถิ่น โคตรศิริ[/caption]

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการสำนักบริหารอ้อยและนํ้าตาลทราย กล่าวถึง ความพร้อมในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนลอยตัวราคานํ้าตาลว่า ขณะนี้คณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย มีมติเรื่องระเบียบ 4 ฉบับ ที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามพันธะ สัญญาองค์การการค้าโลก(WTO) คือ 1. ยกเลิกโควตานํ้าตาลโควตาก. (นํ้าตาลสำหรับบริโภคภายในประเทศ) โควตา ข. (นํ้าตาลดิบที่ส่งออกโดยบริษัทอ้อยและนํ้าตาลไทยฯ) และโควตา ค. (นํ้าตาลดิบหรือนํ้าตาลทรายที่ส่งออกโดยโรงงานนํ้าตาล) เป็นที่แน่นอนแล้ว 2.ปล่อยลอยตัวราคานํ้าตาล 3.การคิดราคาอ้อยโดยนำกติกาต่างๆ ในการคำนวณราคาอ้อยแบบใหม่มาใช้ 3.ระเบียบว่าด้วยการส่งออกนํ้าตาลไปยังต่างประเทศภายใต้กติกาใหม่ ทั้งหมดนี้ผ่านคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย (กอน.) แล้ว ดังนั้นวันนี้เหลือแต่กระบวนการที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอเข้า ครม. กฤษฎีกาตรวจร่างระเบียบ เมื่อครม. เห็นชอบก็ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ออกมาถึงจะใช้ได้ ซึ่งขั้นตอนเหล่า นี้ยังอยู่ในกระบวนการ

“กระบวนการต่างๆ ได้ผ่านไประดับหนึ่งแล้วและคิดว่าระเบียบปฏิบัติคงออกไม่ทัน วันที่ 1 ธันวาคมนี้แต่นโยบายบอกว่าให้เริ่มลอยตัววันที่ 1 ธันวาคมนี้ ที่จะต้องมีระเบียบกฎหมายออกมารองรับ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเกิดการลอยตัวเต็มรูปแบบน่าจะใช้เวลาอีกราว 2 เดือนหรือราวปลายเดือนมกราคม นับจากนี้ไป ดังนั้นวันที่ 1 ธันวาคมนี้ราคานํ้าตาลยังไม่สามารถลอยตัว จนกว่าระเบียบปฏิบัติจะเรียบร้อย ซึ่งเรื่องนี้จะต้องเสนอให้ภาครัฐและประชาชนรับทราบถึงเงื่อนเวลาที่พร้อมลอยตัวในเร็วๆ นี้”

++ผู้บริโภคต้องไม่เดือดร้อน
นอกจากนี้กรณีที่กลุ่มผู้ใช้นํ้าตาลต่างวิตกกังวลว่า หลังราคานํ้าตาลลอยตัวจะทำให้ราคา นํ้าตาลมีความผันผวนมาก ซึ่งเรื่องนี้ในกระบวนการก็มีการหารือกับกระทรวงพาณิชย์และโรงงานนํ้าตาลอยู่ และคิดว่าประเทศไทยยังต้องกินนํ้าตาลถูกที่สุดในโลกเหมือนเดิม ก็ขอให้สบายใจได้ ถึงวันนี้ราคานํ้าตาลลอยตัวก็เชื่อว่าราคาหน้าโรงงานไม่น่าจะเกิน19 บาทต่อกิโลกรัม เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายมากกว่า ซึ่งก่อนหน้านี้ทุกภาคส่วนมีการหารือกันว่าหากราคาสูงเกินไปเราก็จะไม่ขายสูงเกินไป แม้ว่าจะมีการลอยตัว แต่ในความเป็นจริงจะต้องไม่ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน จะต้องขายในราคาที่เหมาะสม

P01-3318-4a ++ผู้ใช้นํ้าตาลห่วงข้อกังวล4ด้าน
นายปิยวงศ์ ศรีแสงนาม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เจริญ อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตผลไม้อบแห้ง กล่าวในฐานะผู้ใช้นํ้าตาลว่า มี 4 ด้าน ที่เป็นข้อกังวลหลังราคานํ้าตาลลอยตัว ประการแรกคือข้อกังวลในเรื่องปริมาณ เพราะเวลาที่บริษัทติดต่อกับลูกค้า หรือกับห้างในต่างประ เทศ จะดีลกันตอนต้นปีว่าเราจะส่งของให้ลูกค้าในปริมาณเท่าไร แล้วเราก็ต้องตกลงที่ปริมาณนั้นไว้ ตลอดปี แต่ถ้าเกิดมีการขาดแคลน นํ้าตาลในประเทศขึ้นมา ก็จะทำให้เราไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งทางห้างคู่ค้าจะมาปรับเงินกับผู้ผลิต หรือถ้าสินค้าขาดตอนไปนานๆ ห้างเหล่านั้นสามารถดึงสินค้าออกจากเชลฟ์ได้

ประการที่ 2 มีความกังวลมาก หากราคานํ้าตาลมีราคาขึ้น-ลงแรงๆ เพราะบริษัททำสัญญาซื้อขายกับลูกค้าไว้ก่อนแล้วตลอดปี โดยขายสินค้าในราคาเดียวที่ตกลงกันไว้ทั้งปี ฉะนั้นในระหว่างปีถ้าราคานํ้าตาลมีการเหวี่ยงขึ้นหรือเหวี่ยงลงแรงๆ ก็มีผลกระทบต่อต้นทุนเราแน่นอน

ประการที่ 3 สูตรคำนวณราคานํ้าตาลอยากให้เป็นสูตรที่ตายตัวเหมือนการคิดราคานํ้ามัน คือนํ้ามันจะมีมูลค่านํ้ามันในตลาดโลกบวกกับค่าการตลาด ฉะนั้นถ้า เรามีสูตรตายตัวในการคิดราคานํ้าตาลจะทำให้ผู้ผลิตเวลาคิดต้นทุนตอนต้นปี เวลาไปคุยกับลูกค้าก็จะประมาณการได้ง่ายกว่า

ประการที่ 4 มีความกังวลเรื่องคุณภาพนํ้าตาล โดยมองว่าเวลาที่ราคานํ้าตาลสูง ก็ไม่น่าห่วงเรื่องคุณภาพนํ้าตาลแต่ในเวลาที่ราคานํ้าตาลโลกตํ่าลงก็น่าเป็นห่วงเรื่องคุณภาพนํ้าตาล เพราะผลผลิตจะออกมาไม่มี หรือนํ้าตาลที่ออกมามีหลายคุณภาพ

[caption id="attachment_237002" align="aligncenter" width="335"] คมกริช นาคะลักษณ์ คมกริช นาคะลักษณ์[/caption]

ต่อเรื่องนี้นายคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัด การสายงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่ม มิตรผลกล่าวว่า บริษัทเป็นห่วงความ เข้าใจของลูกค้านํ้าตาล เนื่องจากที่ผ่านมายังคุ้นชินกับระบบจำหน่ายนํ้าตาลแบบโควตา มีการส่งมอบทุกสัปดาห์ หากลอยตัวจึงมีความกังวลกับราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งกังวลเรื่องปริมาณนํ้าตาลจะเพียงพอขายในประเทศหรือไม่ ซึ่งยืนยันว่าไม่ต้องกังวล เนื่องจากกำลังการผลิต 10-11 ล้านตัน แต่บริโภคในประเทศเพียง 2.5 ล้านตัน มีเหลือส่งออก 7 ล้านตัน

อีกทั้งมีข้อตกลงให้ทุกโรงงานมีการตั้งสำรองนํ้าตาลทราย (บัฟเฟอร์ สต๊อก) ไว้ 10% ของ ปริมาณนํ้าตาลที่ขายในประเทศ ก็ประมาณ 2.5-3 แสนตันนํ้าตาล หรือราว 25,000 ตันต่อเดือน ที่ทุก ค่ายจะต้องจัดสรรมาสต๊อกไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินสำหรับรองรับภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมภาย ในประเทศให้เพียงพอ ซึ่งจำเป็นต้องมีสต๊อกไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน

ด้านนายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต7และสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวในฐานะตัวแทนชาวไร่อ้อยว่า การลอยตัว ถ้าในแง่ชาวไร่อ้อยนั้น ถ้าเรามองให้เข้าใจในการลอยตัว การกำหนดราคานํ้าตาลภายในประเทศ ถือว่าไม่ได้ส่งผลกระทบกับเรื่องราคาอ้อยภายในมากนัก เพราะโดยกลไก การกำหนดราคา เรามีกฎหมายอ้อยและนํ้าตาลทรายในการกำหนดร่วมกัน ระหว่างชาวไร่อ้อย โรงงาน และภาคราชการ ฉะนั้นต้องบอกว่า ที่มารายได้ของนํ้าตาล ที่ขายภายในประเทศ มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

“ปัจจุบันจะเห็นว่านํ้าตาลที่ผลิตในประเทศ ถ้าเป็น 5 ส่วน เราบริโภคภายในประเทศเพียง 1 ส่วน ดังนั้นการกำหนดราคาที่มาของรายได้ ที่มากำหนดเป็นราคาอ้อย จะถูกเทไปทางรายที่เกิด จากการส่งออกเป็นหลัก ฉะนั้นกลไกเรื่องของราคานํ้าตาลในตลาด โลกก็เป็นตัวที่จะนำมากำหนดราคาอ้อยเป็นหลัก หรือถ้ามองเป็นสัดส่วนจะเห็นว่า ปริมาณนํ้าตาลทั้งหมดมี 10 ล้านตัน 7-8 ล้านตันส่งออกและขายในประเทศ 2.5 ล้านตันแล้วแต่อัตราการบริโภคในประเทศในแต่ละปี”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,318
วันที่ 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว