โหมโรง TOYOTA C-HR ทำไมต้องไฮบริด-1.8 และแบตฯนิกเกิลเมทัลไฮดราย

03 ธ.ค. 2560 | 07:45 น.
โตโยต้าปลุกเทรนด์รถยนต์ไฮบริดให้กระหึ่มอีกครั้ง หลังประกาศลงทุนรอบใหม่ด้วยเงิน 2 หมื่นล้านบาท พร้อมปูพรมโหมกระแสอย่างต่อเนื่อง

mp33-3318-5a โดยยุคใหม่ของโตโยต้า เมืองไทย จะมีขุมพลังไฮบริดแทรกอยู่ในไลน์อัพของรถยนต์หลายรุ่น ตั้งแต่เก๋งเล็กไปจนถึงเก๋งขนาดกลาง และมีโอกาสจับใส่ในพีพีวีรุ่นดังอย่างฟอร์จูนเนอร์เช่นกัน

ปัจจุบันโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย มี “คัมรี่ ไฮบริด” ทำตลาดอยู่แล้ว และเร็วๆนี้กำลังจะได้น้องใหม่อย่าง “ซี-เอชอาร์” เข้ามาเสริมทัพอีก 1 รุ่น

ทั้งนี้ มีการยืนยันว่า “ซี-เอชอาร์” (C-HR) จะวางเครื่องยนต์เบนซิน 1.8 ลิตร และรุ่นไฮบริด เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร ผสานการทำงานกับมอเตอร์ไฟฟ้า ราคา 9 แสนบาท-1.2 ล้านบาท พร้อมเผยโฉมในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป ที่จัดระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-11 ธันวาคมนี้ ที่ชาลเลนเจอร์ ฮอลล์ เมืองทองธานี

mp33-3318-3a งานนี้โตโยต้าไม่ได้มาเล่นๆ เพราะนอกจากจะนำ “ซี-เอชอาร์” มาอวดโฉม 2 คัน (สีแดงและสีนํ้าเงิน) ยังเปิดรับพรีบุ๊กกิ้งทันที โดยลูกค้าไม่ต้องวางเงินจอง หรือเป็นการจองสิทธิ์ซื้อเอาไว้ก่อน (วางเงินจองเหมือนการซื้อ-ขายทั่วไปไม่ได้ เพราะโตโยต้ายังไม่ได้ประกาศราคา)

อย่างไรก็ตามก่อนที่โตโยต้าจะเปิดตัว“ซี-เอชอาร์” ในประเทศไทย ได้เชิญสื่อมวลชนไปเรียนรู้และสัมผัสกับนวัตกรรมของรถยนต์รุ่นนี้ถึงประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไฮไลต์อยู่ที่สนามเซ็นทรัล เซอร์กิต ในจังหวัดเฮียวโงะ เพื่อร่วมกิจกรรมภายใต้หัวข้อ Hybrid & TNGA Riding Experience

mp33-3318-1a สำหรับโตโยต้า ซี-เอชอาร์ เป็นครอสโอเวอร์ที่พัฒนาบนแพลตฟอร์ม TNGA (Toyota New Global Architecture) ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติเทคโนโลยีของโตโยต้า ด้วยการพัฒนาแบบองค์รวม ทำให้ได้โครงสร้างที่มีความแข็งแกร่ง นํ้าหนักเบา ขนาดกะทัดรัด พร้อมคงสมรรถนะที่ดีการออกแบบให้จุดศูนย์ถ่วงตํ่าลง ส่งผลถึงเสถียรภาพการทรงตัวในการวิ่งทางตรงและเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมรถที่ความเร็วสูง

นอกจากเทคโนโลยี TNGAแล้วโตโยต้ายัง พัฒนาระบบส่งกำลังให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ขณะที่เครื่องยนต์ออกแบบชิ้นส่วนให้ลดแรงเสียดทาน และให้การเผาไหม้ดีขึ้น ด้วยการปรับรูปทรงของช่องทางเข้าของอากาศ รวมถึง ERG การหมุนเวียนไอเสียใหม่

mp33-3318-8a ขณะที่แบตเตอรี่ไฮบริด เป็นเจเนอเรชันที่ 4 ตัวขั้วไฟฟ้าภายในแบตเตอรีและที่วางแบตเตอรี่พัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการชาร์จดีขึ้น 28% รวมไปถึงช่วยทำให้ขนาดแบตเตอรี่ลดลง 10% ซึ่งการพัฒนาเส้นทางระบายความร้อนภายในแบตเตอรี ทำให้ประสิทธิภาพในการระบายความร้อนดีขึ้น โดยแบตเตอรีไฮบริดที่เบา ขนาดกะทัดรัด และวางตำแหน่งใหม่ใต้เบาะหลังก่อให้เกิดจุดศูนย์ถ่วงที่ตํ่าลงและการเข้าโค้งที่มั่นคงยิ่งขึ้นขณะเดียวกันโตโยต้ายัง เคลมว่า รถไฮบริดรุ่นใหม่จะประหยัดเชื้อเพลิงกว่าเจเนอเรชันที่ 3 ถึง 25.2%

หลังเรียนรู้เรื่องเทคนิคกันพอสมควร ทีมงานได้แบ่งสื่อมวลชนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะได้นั่งในซี-เอชอาร์ เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร ไฮบริด ที่วิ่งบนท้องถนนจริง และกลุ่มที่ 2 ได้ทดลองนั่งในแทร็กของสนามเซ็นทรัล เซอร์กิต โดยจะจำลองสถานการณ์เสมือนการขับขี่บนทางด่วน สามารถใช้ความเร็วสูงได้ (ทั้ง 2 กลุ่มจะมีนักแข่งมาขับให้)

“ฐานยานยนต์” อยู่ในกลุ่มที่ 1 ของการทดสอบ เมื่อแรกสัมผัสรถยนต์รุ่นนี้อย่างใกล้ชิด พบว่าตัวรถดูไม่ใหญ่เทอะทะ รูปทรงโฉบเฉี่ยว เชื่อว่าขับไปที่ไหนก็เท่ ดึงดูดทุกสายตา ภายในห้องโดยสารกว้างขวาง นั่งสบาย แต่จุดที่ไม่ถูกใจน่าจะเป็นที่เปิดประตูด้านหลัง อยู่ในมุมที่สูง และไม่ถนัดมือ นอกจากนั้นกระจกของห้องโดยสารด้านหลังที่อยู่สูง ทำให้มองไม่เห็นวิวด้านนอก มีผลทำให้ห้องโดยสารด้านหลังดูแคบๆ อึดอัดไปสักนิด

mp33-3318-4a เมื่อถึงเวลาล้อหมุน สเตชันแรกจะวิ่งบนถนนจริงด้วยระยะทาง 17 กิโลเมตร เริ่มแรกจะเจอถนนขรุขระ ตรงจุดนี้ต้องการให้รับทราบถึงความนุ่มนวล และการทำงานของระบบกันสะเทือนแบบปีกนกคู่ที่แม้จะเจอกับสภาพถนนที่ไม่ราบเรียบแต่ยังนั่งสบาย

เมื่อรถหยุดเพราะติดสัญญาณไฟ ตัวมอเตอร์จะหยุดทำงาน มีผลด้านการประหยัดเชื้อเพลิง และเมื่อออกตัวอีกครั้ง มอเตอร์ก็จะเพิ่มความเร็วได้ทันที โดยการทำงานจะไม่ส่งเสียงดังเข้ามารบกวนห้องโดยสาร
สเตชันต่อมา เป็นการทดลองนั่งบนสนามแข่ง โดยจำลองสถานการณ์เหมือนขับขี่บนทางด่วน ซึ่งผู้ขับจะใช้ความเร็วประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หลังจากนั้นในรอบที่ 2 ความเร็วจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในสเตชันนี้จะสัมผัสได้ถึงความหนึบ เกาะถนน แม้ในเวลาเข้าโค้งหรือในช่วงที่ถนนแคบรถก็ยังตอบสนองได้ดี

สำหรับโตโยต้า ซี-เอชอาร์ ไฮบริด ที่ได้สัมผัสกันในครั้งนี้ ถือเป็นสเปกที่ขายในญี่ปุ่น ส่วนรุ่นที่ผลิตและทำตลาดในประเทศไทย คงต้องปรับซอฟต์แวร์ เซ็ตช่วงล่าง เบรก ใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพถนน และพฤติกรรมผู้ขับขี่ ที่เน้นความนุ่มนวลเป็นสำคัญ

เช่นเดียวกับขุมพลังที่ในตลาดโลกมี บล็อก 1.2 ลิตร เทอร์โบ,2.0 ลิตร ไร้ระบบอัดอากาศ และไฮบริด (เครื่องยนต์1.8 ลิตร ผสานการทำงานกับมอเตอร์ไฟฟ้า) แต่เมืองไทยจะมีไฮบริด และเครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 1.8 ลิตร เพื่อท้าชนเต็มๆกับคู่แข่งอย่างฮอนด้า เอชอาร์-วี

mp33-3318-2a ส่วนคำถามข้องใจว่า แบตเตอรี่ในรถไฮบริดควรเป็นแบบนิกเกิลเมทัลไฮดราย หรือ ลิเทียมไอออน ประเด็นนี้ทีมวิศวกรโตโยต้าชี้แจงว่า “ในระดับโกลบัล โตโยต้ามีการใช้แบตเตอรี่ทั้งแบบนิกเกิลเมทัลไฮดราย และ
ลิเทียมไอออน แต่สำหรับรุ่น ซี-เอชอาร์ที่จำหน่ายทั่วโลก หรือรถที่เป็นไฮบริด จะใช้แบตเตอรี่ที่เป็นนิกเกิลเมทัลไฮดรายโดยมองในแง่สมรรถนะถือว่าไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อมาดูถึงการรับประจุไฟฟ้าหรือการคายประจุไฟฟ้าแล้ว นิกเกิล เมทัลไฮดรายทำได้ดีกว่า และยืนยันว่าเทคโนโลยีก็ไม่ได้ล้าหลังแต่อย่างใด ส่วนการรีไซเคิลนั้น ด้วยส่วนผสมที่มีโลหะ 2 ชนิดคือนิกเกิลเมทัลไฮดรายและโคบอลต์ ก็สามารถที่จะนำมารีไซเคิลได้ 100%”

เอาเป็นว่าใครอยากสัมผัสตัวจริงของครอสโอเวอร์รุ่นนี้ ลองแวะชมกันได้ที่บูธของโตโยต้าในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2017

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,318
วันที่ 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว