แบรนด์ไทยลุยตลาดจีน ที.เอ.ซี.ส่งทัพสินค้าปูพรมผ่านออนไลน์-ออฟไลน์

03 ธ.ค. 2560 | 05:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

แบรนด์ดังเบนเข็มเจาะตลาดจีน หลังตลาดคอนซูเมอร์ไทยติดลบ “ที.เอ.ซี.” ผนึกทุนยักษ์ “ฉวนเจี้ยน” แจ้งเกิดวีสลิมผ่านออนไลน์-ขายตรง ขณะที่ “ทีเอฟคอสเมโทโลจี” ลุยปักธงตั้งสำนักงานสาขารับจ้างผลิตเครื่องสำอาง

ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศไทยยังคงติดลบอย่างต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และหนี้ครัวเรือน สวนทางกับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติพี่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีจำนวนกว่า 1.12 ล้านคน ในปี 2554 และเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนกว่า 8.82 ล้านคน ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่นักการตลาดจับตามองตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ที่สำคัญชาวจีนยังมีความชื่นชอบสินค้าแบรนด์ไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเครื่องสำอาง ของใช้ส่วนบุคคล อาหาร ขนมขบเคี้ยว หรือผลไม้ต่างๆ ส่งผลให้นักการตลาดและเจ้าของสินค้าพยายามที่จะจับตลาดชาวจีน ทั้งที่เดินทางเข้ามาภายในประเทศ รวมถึงการบุกเข้าไปทำตลาดในประเทศจีนด้วย

นางสาวสมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย)ฯ เปิดเผยว่า ตลาดนักท่องเที่ยวเดิมนักการตลาดไม่ได้ให้ความสำคัญ เพราะไม่สามารถสร้างแบรนด์ให้เกิดขึ้นได้ เมื่อนักเที่ยวเดินทางมาและกลับประเทศแล้ว แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปทำให้นักการตลาดสามารถสร้างแบรนด์ง่ายขึ้น ซึ่งนักการตลาดได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน เพราะชาวจีนที่เดินทางมาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูงเฉลี่ยปีละ 1 ล้านบาท มีสัดส่วนราว 55% ของนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมด สูงกว่ารายได้เฉลี่ยของคนไทยต่อคนต่อปีที่มีประมาณ 1.97 แสนบาท ชาวจีนส่วนใหญ่จะเดินทางเข้ามาเองถึง 61% มีอัตราพักเฉลี่ย 9.2 วัน ใช้จ่าย
เงินวันละ 5,597 บาท ส่วนชาวจีนที่เดินทางมากับบริษัททัวร์มีสัดส่วน 39% มีระยะเวลาพักเฉลี่ย 6.8 วัน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 7,023 บาท

MP36-3318-A “แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในไทยจะมีสัดส่วนมากถึง 30% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด แต่จำนวนยังไม่เยอะเมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีนทั้งหมด ปีละ 122 ล้านคนต่อปี มากกว่าจำนวนประชากรไทยทั้งประเทศด้วยซํ้า แสดงให้เห็นโอกาสทางการตลาดอย่างมาก ซึ่งชาวจีนเดินทางมาไทยด้วย 4 วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ การช็อปปิ้ง การตรวจสุภาพและรักษาอาการป่วย การท่องเที่ยว เกาะและทะเล และการซื้อคอนโดมิเนียม ซึ่งช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาชาวจีนซื้ออสังหาริมทรัพย์มากถึง 70% ของชาวต่างชาติที่มาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย”

การทำตลาดกับลูกค้าจีน นอกจากการทำตลาดภายในประเทศแล้ว ยังสามารถทำได้ทั้งการส่งสินค้าไปจำหน่ายในประเทศจีนได้ด้วย เนื่องจากตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศจีนยังคงมีอัตราการเติบโตที่ดี 4-5% ซึ่งเติบโตในทุกกลุ่มสินค้า และเติบโตในทุกช่องทาง ซึ่งช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าในจีนจะแบ่งออกอย่างชัดเจน 5 ช่องทาง ได้แก่ ช่องทางไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ที่เติบโต 2.3% ช่องทางร้านโชวห่วยเติบโต 3.2% ช่องทางร้านเบบี้สโตร์ เติบโต 9.7% ช่องทางออนไลน์เติบโต 31.2% และช่องทางอื่นๆ เติบโต 7% ส่วนวิธีการทำตลาดเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าชาวจีนนั้น จะต้องสื่อสารการตลาดผ่านช่องทางเว็บไซต์หรือออนไลน์ชั้นนำของชาวจีน เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ส่วนการโฆษณาในประเทศจะต้องเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางไปหรือพบเห็นได้ชัดเจน เช่น สนามบิน โรงแรม เป็นต้น

[caption id="attachment_137493" align="aligncenter" width="503"] ชนิต สุวรรณพรินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.เอ.ซี คอนซูเมอร์ฯ (TACC) ชนิต สุวรรณพรินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.เอ.ซี คอนซูเมอร์ฯ (TACC)[/caption]

ด้านนายชนิต สุวรรณพรินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม อาหาร และจัดจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเขียน อาทิ แบรนด์เซนย่า (Zenya) วีสลิม (VSlim) เป็นต้น เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท ฉวนเจี้ยน กรุ๊ป จำกัด (Quanjian Group Co.,Ltd.) ประเทศจีน เพื่อทำธุรกิจร่วมกัน โดยจะมีการจัดส่งสินค้าจากบริษัทไปยังประเทศจีน ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายของฉวนเจี้ยน ทั้งช่องทางขายตรง และช่องทางออนไลน์ ขณะเดียวกันบริษัทจะนำเข้าสินค้าของฉวนเจี้ยนเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย รวมถึงกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านด้วย

“ความร่วมมือกันครั้งนี้ บริษัทมองเห็นโอกาสที่จะเข้าไปทำตลาดในประเทศจีน จากศักยภาพของฉวนเจี้ยนที่มีช่องทางสำคัญทั้งธุรกิจขาย
ตรง ที่ถือว่าเป็นบริษัทขายตรงสัญชาติจีนอันดับ 1 มียอดขายสูงสุดในกลุ่มบริษัทขายตรงจีน มีสมาชิกกว่า 4 ล้านครัวเรือน มียอดขายเป็นอันดับ 4 ของธุรกิจขายตรงจีน และอันดับ 7 ของโลกด้วย และยังมีช่องทางออนไลน์ขนาดใหญ่ จึงเป็นโอกาสที่บริษัทจะส่งสินค้า เป็นกาแฟแบรนด์วีสลิมไปขาย ที่คาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนได้ในช่วงต้นปีหน้า ส่วนสินค้าอื่นๆ คงต้องดูโอกาสและศักยภาพต่อไป รวมถึงการนำสินค้าจากจีนมาจำหน่ายด้วย”

บาร์ไลน์ฐาน ขณะที่นางสาวอัครภัสสร์  ชนะจินดาโสภณ ประธานกรรมการบริษัท ทีเอฟคอสเมโทโลจี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตเครื่องสำอาง ของใช้ส่วนบุคคล และสินค้าสุขภาพ กล่าวว่า ในปีหน้ามีแผนเข้าไปดำเนินการจัดตั้งสำนัก งานสาขาที่ประเทศจีน เพื่อขยายตลาดด้านการรับจ้างผลิตสินค้าเครื่องสำอาง ของใช้ส่วนบุคคล และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งจะเน้นวัตถุดิบหลักเป็นสมุนไพรไทย เนื่องจากได้รับการยอมรับและเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มลูกค้าชาวจีน

“ปีหน้าบริษัทตั้งไว้ประมาณ 100 ล้านบาท ทั้งด้านการขยายธุรกิจ การรุกตลาด การสร้างแบรนด์ การพัฒนาบุคลากร รวมถึงการจัดตั้งสำนักงานสาขาในประเทศจีน ที่คาดว่าในช่วงไตรมาส 2 น่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าตลาดในประเทศจีนจะทำยอดขายได้ปีละประมาณ 100 ล้านบาท นอกจากตลาดจีนแล้ว บริษัทยังวางแผนขยายสำนักงานสาขาไปยังสปป.ลาว และเวียดนามต่อไปด้วย เนื่องจากแบรนด์สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีและประเทศจีนเป็นอย่างมาก”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,318
วันที่ 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว