เปิดแนวคิด ‘รีคัลท์’ ทำเกษตรด้วยภาพถ่ายดาวเทียม

03 ธ.ค. 2560 | 10:41 น.
1737

โลกของยุคดิจิตอลในปัจจุบัน หลายสิ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยี แม้กระทั่งการเกษตรที่ได้มีการนำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้สำรวจพื้นที่เพาะปลูก

อย่างล่าสุด Ricult (รีคัลท์) แอพพลิเคชันและเว็บไซต์ที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมสำรวจพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร โดยสามารถทำการวิเคราะห์แร่ธาตุต่าง ๆ ในดินที่พืชต้องการ รวมถึงแนะนำขั้นตอนในการปลูกพืชให้แก่เกษตรกรอย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยให้เกษตรกรใช้ปัจจัยการผลิตได้อย่างเหมาะสม ... “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายอุกฤษ อุณหเลขกะ ผู้ร่วมก่อตั้ง และ CEO Ricult ประเทศไทย

 

[caption id="attachment_236229" align="aligncenter" width="503"] อุกฤษ อุณหเลขกะ อุกฤษ อุณหเลขกะ[/caption]

| ที่มาของ ‘รีคัลท์’ |
“ผมมาจากครอบครัวเกษตรกร ที่ จ.ปราจีนบุรี ทำให้เห็นปัญหาของเกษตรกรตั้งแต่วัยเด็ก และมองเห็นว่า ปัญหาด้านการเกษตรนั้น เป็นปัญหาที่ใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งเราสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรได้ หลังจากที่ได้ไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านวิศวกรรมและบริหารจัดการ จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเส็ตส์ (Massachusetts Institute of Technology : MIT) ก็ได้พบกับผู้ก่อตั้งอีกคน ที่เป็นชาวปากีสถาน ทำให้ผมได้รู้ว่า ปัญหาของเกษตรกรไทยและปากีสถานนั้น มีความคล้ายคลึงกัน จึงได้รวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่จะมาช่วยแก้ปัญหาด้านการเกษตรของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก โดยเริ่มแรกนั้น เราเริ่มที่ปากีสถานก่อน เพราะเป็นประเทศที่มีปัญหาการเกษตรและความยากจน ผู้ร่วมก่อตั้งได้เล็งเห็นถึงปัญหาของเกษตรกรไทยเช่นกัน จึงได้เริ่มเข้ามาพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาในไทย”


MP20-3318-3A



| ML ช่วยเกษตรกรอย่างไร? |
รีคัลท์ เน้นเรื่องของการสร้างเทคโนโลยี และวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมทางอากาศ ที่มีความแม่นยำสูง สำหรับ Machine Learning (ML) ที่นำมาใช้งานนั้น จะเป็นตัวบ่งบอกว่า สิ่งที่เกษตรกรต้องทำในแต่ละวันคืออะไร เพียงแค่เปิดแอพของรีคัลท์ขึ้นมา แอพจะอธิบายขั้นตอนการทำงานในแต่ละวันให้ทราบ ตั้งแต่การรดน้ำ ใส่ปุ๋ย การเก็บเกี่ยว รวมถึงพยากรณ์แนวโน้มผลผลิตแต่ละรอบการเพาะปลูกได้อย่างแม่นยำ เพื่อที่เกษตรกรสามารถที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปขอสินเชื่อกับทางธนาคารได้ง่ายยิ่งขึ้น

| เกษตรกรที่ใช้งานรีคัลท์ |
ปัจจุบัน จำกัดการใช้งานอยู่ที่ 2,000 ไร่ ซึ่งเป็นลูกค้าของพาร์ตเนอร์ คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่คาดว่า หากเปิดให้ใช้งานอย่างเป็นทางการ จะมีเกษตรกรที่สนใจกว่า 1 หมื่นไร่ โดยต้องการสร้างความมั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์ก่อนว่า ใช้แล้วเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งก็เริ่มเห็นผลจากเกษตรกรที่ใช้งานแอพรีคัลท์นั้น สามารถช่วยลดต้นทุนได้ถึง 30% รวมถึงเพิ่มผลผลิตได้มากถึง 50% และในปีหน้าจะเปิดให้เกษตรกรหรือผู้ใช้งานทั่วไปสามารถดาวน์โหลดได้ โดยคาดว่าจะมีผู้ที่สนใจและต้องการใช้งานกว่า 5 หมื่นไร่


MP20-3318-2A



| แผนธุรกิจ |
หลังจากชนะโครงการดีแทค แอคเซเลอเรท ปี 5 ทำให้มีเงินลงทุนเข้ามาในบริษัท สามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้มากขึ้น โดยจะมีแพลนขยายไปสู่พืชอื่น ๆ อย่างเช่น อ้อย หรือมันสำปะหลัง ซึ่งจะมีการเปิดตัวในเดือนหน้า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรีคัลท์ประกอบธุรกิจในรูปแบบ Social Enterprise ซึ่งมีความคาดหวังที่จะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีทีมงานที่ทำหน้าที่ตรวจประเมินผลการใช้งานอย่างจริงจัง ว่า เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจริง เพื่อช่วยพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจในภาพรวมให้ดีขึ้น


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,318 วันที่ 30 พ.ย. - 2 ธ.ค. 2560 หน้า 20

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว