‘กฤษฎา-ลักษณ์-วิวัฒน์’ มือสยบม็อบเกษตรกร!

03 ธ.ค. 2560 | 09:22 น.
1622

รายงาน โดย ฐานเศรษฐกิจ | “ผมยืนยันว่า เข้าใจหัวอกหัวใจเกษตรกรไทยเป็นอย่างดี เพราะพ่อแม่ผมเป็นเกษตรกร ทำอาชีพเลี้ยงหมู อยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ในส่วนของผมก็ช่วยเลี้ยงด้วย จึงเห็นปัญหาด้านเกษตรมาตลอด อย่างไรก็ขอให้มั่นใจว่า ผมมีนโยบายด้านเกษตรแบบเด็ด ๆ แน่นอน”

สุ่มเสียงจาก ‘กฤษฎา บุญราช’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ป้ายแดง ที่ออกมาประกาศความพร้อมในการเตรียมกู้วิกฤติราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ และช่วยยกระดับชีวิตกลุ่มเกษตรกรฐานราก และแก้ไขปัญหาหนี้สินและความยากจน

เป็นการประกาศความพร้อมในการแก้ไขปัญหากลุ่มเกษตรกร ร่วมกับ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสมือนขุนพลเกษตรขนาบซ้าย-ขวา คือ ‘ลักษณ์ วจนานวัช’ อดีตผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผู้คลุกคลีกับการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรมาตลอด ผลงานที่โดดเด่นและสร้างความจดจำของสังคม คือ เป็นผู้คัดค้านการนำสภาพคล่องของธนาคารรัฐ ทั้ง ธอส. และธนาคารออมสิน เพื่อใช้เงินคืนในโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ เพราะเกินภาระการก่อหนี้การคลัง


วิทยุพลังงาน

ส่วนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ อีกคน คือ ‘วิวัฒน์ ศัลยกำธร’ ประธานมูลนิธิเกษตรกรรมธรรมชาติ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘อาจารย์ยักษ์’ ผู้ยึดหลักปฏิบัติตามศาสตร์พระราชามาใช้ในชีวิตจริงตลอด 20 ปี จนเป็นผลรูปธรรม ทั้งมีตำแหน่งสำคัญ ไม่ว่าจะในฐานะประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) รวมไปถึงที่ปรึกษาให้อีกหลายองค์กร

การมาดูแลกระทรวงเกษตรฯ ครั้งนี้ อาจารย์ยักษ์ ยืนยันว่า มีความตั้งใจที่จะเข้ามาสานต่อภารกิจเศรษฐกิจพอเพียงอย่างสุดความสามารถ

นับเป็นครั้งแรกที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเจ้ากระทรวงที่ข้ามฟากมาจากกระทรวงคลองหลอด หากมองภารกิจจะเห็นความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะกระทรวงมหาดไทยดูแลทุกข์สุขประชาชน ขณะที่ กระทรวงเกษตรฯ ดูแลเรื่องเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นเกษตรกรที่มีฐานะยากจนเป็นส่วนใหญ่ แต่การคุมกระทรวงเกษตรฯ ของอดีตปลัดมหาดไทย ‘กฤษฎา’ ครั้งนี้ จึงมีนัยมากกว่าการดูแลเรื่องปัญหาพืชเกษตรตกต่ำ


TP14-3318-1A

หากยังจำกันได้ ในเดือน ธ.ค. 2556 ‘ลุงกำนัน’ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ปลุกพลังข้าราชการร่วมโค่นระบอบทักษิณ ขณะที่ ‘กฤษฎา’ เป็นผู้ว่าฯ สงขลา ได้ช่วยเจรจากับตำรวจให้ออกจากพื้นที่ แล้วนำมวลชนม็อบ ‘ชาวสงขลา’ มุ่งหน้าไปยังศาลากลางจังหวัด เพื่อชุมนุมคู่ขนานกับเวทีของ กปปส. ที่กรุงเทพฯ ได้สำเร็จ เหตุการณ์ครั้งนั้นจึงถูกสังคมมองว่า ‘กฤษฎา’ ใกล้ชิดกับ กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์

กอปรกับช่วงปี 2553 กฤษฎาเข้ารับหน้าที่พ่อเมืองยะลา ได้รับรู้ปัญหาของชาวภาคใต้อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ บ่อยครั้งที่ผู้ว่าฯ กฤษฎา ในขณะนั้น ต้องลงไปดูเหตุระเบิดด้วยตนเอง ทั้งกลางวันและแม้ยามดึกดื่น ร่วมกับฝ่ายทหาร มีอยู่ครั้งหนึ่ง กฤษฎาลงพื้นที่ตรวจเหตุระเบิดที่ยะลากลางดึกร่วมกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ขณะเป็นผู้บัญชาการทหารบก

เมื่อ พล.อ.อนุพงษ์ เรืองอำนาจในกระทรวงคลองหลอด ชื่อของ ‘กฤษฎา’ จึงถูกขยับขึ้นเป็นอธิบดีกรมการปกครอง และไต่ระดับเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย ในปี 2558 นับเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยคนแรกที่จบรัฐศาสตร์จาก ม.รามคำแหง หรือเรียกว่า ‘สิงห์ทอง’ คนแรกที่สามารถผ่าด่าน ‘สิงห์ดำ-สิงห์แดง’ จนเกษียณอายุราชการในปี 2560 ภารกิจที่ทำงานเข้าตารัฐบาล คสช. ทำให้ ‘กฤษฎา’ ถูกมองว่า ใกล้ชิดกับ ‘บิ๊ก คสช.’

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

นอกจากนั้น กฤษฎาได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาล ‘คสช.’ ในอีกหลายตำแหน่ง อาทิ กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน กรรมการในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ, กรรมการคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้, คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง, รองประธานกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย, กรรมการในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก, กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว, กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง

จากภารกิจที่ได้รับการมอบหมายจากรัฐบาล เป็นงานด้านความมั่นคงที่ต้องลงพื้นที่สัมผัสกับประชาชนอย่างใกล้ชิด จึงไม่แปลกที่ รมว.เกษตรฯ และ 2 รมช.เกษตรฯ ในรัฐบาล ‘ประยุทธ์ 5’ จะถูกวางตัวให้เป็นหลักในการแก้ปัญหารากเหง้าของเกษตรกร เหตุจากมีความเข้าใจถ่องแท้ และเข้าถึงมวลชนเกษตรกรอย่างแท้จริง

ภารกิจฟื้นฟูเศรษฐกิจเกษตรกรฐานรากจะประสบความสำเร็จตามที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้มากน้อยเพียงใด คงต้องลุ้นและเอาใจช่วยกันต่อไป


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,318 วันที่ 30 พ.ย. - 2 ธ.ค. 2560 หน้า 14

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว