ชู ‘นวัตกรรม’ ขับเคลื่อนไทย! ‘ไอบีเอ็ม’ หนุนรัฐ-ธุรกิจสู่มิติใหม่ รับ 'ประเทศไทย 4.0’

03 ธ.ค. 2560 | 06:11 น.
1305

“ไอบีเอ็ม” ย้ำความสำเร็จการนำเทคโนโลยีเข้าสนับสนุนภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจไทย ประกาศความพร้อมนำเทคโนโลยี “ค็อกนิทีฟ” และแพลตฟอร์มคลาวด์เปลี่ยนผ่านสู่ยุคใหม่ พร้อมจับมือภาครัฐ การเงิน ปิโตรเคมี โทรคมนาคม และการแพทย์ ปักธง! สร้างนวัตกรรมหนุนวิจัยพัฒนาสู่มิติใหม่ รับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”

นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 65 ปี ของการดำเนินธุรกิจในไทย ไอบีเอ็มไม่เคยหยุดที่จะพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ไอบีเอ็มได้ปรับองค์กรครั้งใหญ่ให้พร้อมพาธุรกิจก้าวสู่ยุค ‘ค็อกนิทีฟ’ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ไปสู่ยุคใหม่ของเทคโนโลยีและธุรกิจ ที่เทคโนโลยี อย่าง ค็อกนิทีฟ คอมพิวติ้ง คลาวด์ และซิเคียวริตี รวมถึงแนวทางการทำงานรูปแบบใหม่ จะทวีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของปริมาณข้อมูล โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค

 

[caption id="attachment_236056" align="aligncenter" width="503"] พรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด พรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด[/caption]

โดยในปี 2560 ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ประกาศวิสัยทัศน์ก้าวสู่การเป็นองค์กรที่ให้บริการโซลูชันด้านค็อกนิทีฟและแพลตฟอร์มคลาวด์เต็มตัว พร้อมได้นำศักยภาพดังกล่าวเข้าสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีความร่วมมือล่าสุดในการนำเทคโนโลยีค็อกนิทีฟและแพลตฟอร์มคลาวด์เข้าเสริมศักยภาพภาครัฐ การเงิน การผลิต โทรคมนาคม และการแพทย์ สอดคล้องนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ประกอบด้วย การเสริมศักยภาพบริการด้านคลาวด์ Infrastructure as a Service ให้กับ CAT โดยได้พัฒนาความร่วมมือไปอีกขั้น ด้วยบริการบริหารจัดการคลาวด์ (Cloud Managed Services) ที่จะสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันให้ CAT ก้าวสู่ความเป็นผู้นำบริการคลาวด์ คอมพิวติ้ง ตลอดจนการขยายขีดความสามารถในการให้บริการสมาร์ทซิตี แพลตฟอร์ม เพื่อช่วยเมืองในไทยยกระดับการบริหารจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยภูเก็ตได้รับเลือกให้เป็นจังหวัดแรกในการนำร่องโครงการนี้

ในภาคการเงิน ธนาคารชั้นนำของไทยได้ร่วมกับไอบีเอ็ม โกลบอล บิสสิเนส ในการนำแนวคิด ‘อไจล์’ (agile) และ ‘ดีไซน์ธิงกิง’ (design thinking) มาใช้ในการกำหนดแนวทางการปฏิรูปธุรกิจเชิงดิจิตอล (digital transformation) เริ่มตั้งแต่การเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการและระบบบริหารจัดการเบื้องหลัง ไปจนถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับงานบริการลูกค้า เพื่อให้ตอบโจทย์และความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้าในยุคดิจิตอล โดยความร่วมมือที่ผ่านมา ได้นำสู่การนำระบบโรโบติก โพรเซส ออโตเมชัน (Robotic Process Automation หรือ RPA) มาใช้ เพื่อลดระยะเวลาของกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเอกสารจำนวนมาก และภาระงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ โดยได้มีการนำร่องใช้ RPA กับ 30 กระบวนการทำงาน และคาดหวังที่จะขยายต่อไปเป็น 100 กระบวนการในเฟสต่อไป


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ด้าน ปิโตรเคมี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้นำเทคโนโลยีค็อกนิทีฟ ไอบีเอ็ม วัตสัน ไอโอที (IBM Watson IoT) มาใช้เป็นครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน เพื่อเพิ่มผลผลิตและเสริมศักยภาพระบบปฏิบัติการของโรงแยกก๊าซ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายมหาศาลที่เกิดจากการรีเซตการทำงานของชุดอุปกรณ์ Gas Turbine หากเกิดเหตุหยุดทำงาน และการใช้ระบบค็อกนิทีฟที่ผนวกความสามารถด้านแมชีนเลิร์นนิ่ง ด้านโทรคมนาคม บริษัทโทรคมนาคมชั้นนำแห่งหนึ่งของไทย ร่วมกับไอบีเอ็มในการนำโซลูชันค็อกนิทีฟ ซิเคียวริตี โอเปอเรชัน เซ็นเตอร์ (Cognitive Security Operations Center หรือ SOC) เข้ารับมือกับภัยคุกคามที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ท่ามกลางการเกิดขึ้นของข้อมูลจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน

ด้านการแพทย์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ริเริ่มโครงการวิจัยและเก็บข้อมูลด้านจีโนมเป็นที่แรกในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม และโรคที่เป็นปัญหาสำคัญอื่น ๆ ของประเทศไทย โดยคาดหวังที่จะนำผลที่ได้ไปพัฒนาการวินิจฉัยและการกำหนดแนวทางการรักษาโรคที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน อย่างไรก็ดี ด้วยปริมาณข้อมูลจีโนมของแต่ละบุคคลที่มีถึง 200 กิกะไบต์ การศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าวจึงจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีการประมวลผลขั้นสูง อย่างเช่น ซูเปอร์คอมพิวเตอร์


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,318 วันที่ 30 พ.ย. - 2 ธ.ค. 2560 หน้า 08

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว