พัฒนาโปรเจ็กต์ Smart Beekeeping ต่อยอดความฝันสู่นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล

03 ธ.ค. 2560 | 00:43 น.
จากเวทีประกวดการแข่งขันนวัตกรรม IoT ในงานมหกรรม Internet of Things 2017 ที่จัดขึ้นโดย “หนังสือพิมพ์ฐาน เศรษฐกิจ” และสื่อในเครือสปริงนิวส์ กรุ๊ป “น้องโอ๊ต - บุญฤทธิ์ บุญมาเรือง” และเพื่อนๆ วัชริศ บุญยิ่ง, ทิติยะ ตรีทิพไกวัลพร และ พีรกิตติ์ บุญกิตติพร จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี คว้ารางวัลที่ 2 จากแนวคิดที่แตกต่างและน่าสนใจ กับการนำ IoT มาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องเก็บข้อมูลในรังผึ้ง กับกล่องเลี้ยงผึ้งอัจฉริยะ ‘Smart Beekeeping’

การที่มีความสนใจในเรื่องของ IoT หรือ Internet of Things ซึ่งปัจจุบันโลกของอินเตอร์เน็ตหรือดิจิตอล กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ไปแล้ว ซึ่งพวกเขามองว่า IoT ถูกนำมาพัฒนาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย รวมทั้งด้านเกษตรกรรม แต่ยังไม่มีใครได้ทดลองพัฒนาเข้ามาใช้กับเรื่องของปศุสัตว์สักเท่าไร ไอเดียนี้ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ และถูกนำมาต่อยอด พัฒนาโดยทีมของ “น้องโอ๊ต” ที่มีแนวคิด และความสนใจคล้ายๆ กัน

MP26-3318-2B “น้องโอ๊ต” อธิบายถึงอุปกรณ์ที่พวกเขาช่วยกันคิดขึ้นมาว่า เป็นกล่องเลี้ยงผึ้งอัจฉริยะ ที่ประยุกต์ IoT มาใช้เป็นเซ็นเซอร์ติดเสริมเข้าภายในกล่องเลี้ยงผึ้ง เพื่อนำมาประมวลผล และวิเคราะห์หาสัญญาณผิดปกติภายในกล่องเลี้ยงผึ้ง เพื่อควบคุมผลผลิตปริมาณนํ้าผึ้ง เซ็นเซอร์ที่ติดไว้ในกล่องผึ้ง จะช่วยทำให้การบริหารจัดการเลี้ยงผึ้ง ทำได้ง่ายยิ่งขึ้น และมีการเก็บข้อมูล พร้อมแสดงผล โดยสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ เพื่อหาความผิดปกติในรัง เมื่อผึ้งถูกโจมตีศัตรูในธรรมชาติ หรือผึ้งกำลังจะหนีรัง ทำให้ผู้ใช้งานสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที และสามารถรักษาจำนวนผึ้งของตัวเองไว้ได้

แรงบันดาลใจที่พวกเขาคิดอุปกรณ์ชิ้นนี้ขึ้นมา เกิดจากการมองเห็นว่า อุตสาหกรรมการเกษตรของบ้านเรา ยังไม่ค่อยมีการนำ IoT มาใช้มากนัก ในขณะที่ผึ้ง ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างดี เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผึ้ง ก่อให้เกิดประโยชน์หลากหลาย มากด้วยสรรพคุณ และยังมีบทบาทสำคัญด้านการเกษตรกรรม ที่ทำให้พืชผลทางการเกษตรติดดอก มีผลที่มากยิ่งขึ้น

MP26-3318-1B “เราคิดว่า การที่เราเอา IoT มาใช้ได้ เราก็สามารถนำไปใช้กับอย่างอื่น เช่น ฟาร์มหมู ที่ควบคุมอุณหภูมิ หรืออื่นๆ ได้ อันนี้เป็น Core Concept ในประเทศไทย IoT ยังไม่ค่อยเข้าไปในปศุสัตว์ เรายังอยู่กับผักกับบ้าน เราเลยอยากทดลองดู”....น้องโอ๊ตบอกว่า โปรเจ็กต์นี้ เป็นซีเนียร์โปรเจ็กต์ ซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์ประมาณพฤษภาคม 2561 ตอนนี้ทีมกำลังปรับและรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อนำมาวิเคราะห์และพัฒนาต่อไป

“ความตั้งใจของคนในทีมบางคน มีแผนที่จะเรียนต่อ หรือเรียนด้วยทำงานไปด้วย และหากสามารถผลักดันและพัฒนาผลงานชนิดนี้ให้เป็น Startup ได้ ทุกคนก็คิดว่าคุ้มค่าที่จะลองดู หากสำเร็จก็เป็นสิ่งที่ดีตามที่คาดหวัง แต่หากผิดพลาดก็ยังเป็นประสบการณ์ที่ดี”

ในส่วนผลิตภัณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับ IoT พวกเขาคิดว่า หากทีมมีความชำนาญมากพอ ก็คิดว่าจะทำกับผลิตภัณฑ์อื่นเช่นกัน เพราะจากการเข้าร่วมงาน มหกรรม Internet of Things 2017 ทีมได้มีโอกาสรับฟังโจทย์จากทางธุรกิจการเลี้ยงหมู ที่ต้องการทำเกี่ยวกับ IoT ด้วยต้องการควบคุมความร้อนและแก๊สแอมโมเนีย พวกเขาคิดว่า IoT มีความสำคัญ เพราะสามารถนำมาประยุกต์เป็นเซ็นเซอร์ไปเก็บข้อมูลยังพื้นที่ตามตำแหน่งที่ต้องการได้โดยอัตโนมัติเป็นการลดเวลา อีกทั้งสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์เพื่อหาความผิดปกติ หรือ อินไซต์บางอย่างได้ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหา ป้องกันปัญหา เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะตามมาได้

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก “ทีมของเรามีความสนใจในด้านการวิเคราะห์ข้อมูลอยู่แล้ว ดังนั้นการที่เราสามารถทำเกี่ยวกับด้าน IoT ก็คือเราจะได้ข้อมูลส่วนหนึ่งมาวิเคราะห์ได้ เป็นการฝึกความเชี่ยวชาญในด้านนี้ และเชื่อว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีหากจะไปต่อยอดเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) ต่อไปในอนาคต”

ส่วนตัวของ “น้องโอ๊ต” มีความสนใจงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นทุนอยู่แล้ว และเขาคิดว่า การวิเคราะห์ข้อมูลโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลจากองค์กร หรือโลกโซเชียล ถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำตลาด การพัฒนาโปรดักต์ และสามารถนำมาต่อยอดอะไรอื่นๆ ได้อีกมากมาย ซึ่งอนาคตพวกเขาอาจพัฒนาต่อยอด จนสร้างเป็นธุรกิจของตัวเองได้ในอนาคต
นั่นคือ แนวคิดและแนวทางของน้องๆ ทีมผู้ผลิต กล่องเลี้ยงผึ้งอัจฉริยะ “Smart Beekeeping” คนรุ่นใหม่ ที่พร้อมเติบโตต่อไปในอนาคต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,318
วันที่ 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว