ดีแทค เฟ้นหาและพัฒนาคนดิจิตอล

02 ธ.ค. 2560 | 13:34 น.
จากการสำรวจความคิดเห็นโดย ลิงค์อินด์ โซเชียลมีเดียสำหรับธุรกิจ ระบุว่า 55% ของบริษัททั่วโลก ความเหลื่อมลํ้าทางทักษะดิจิตอลของพนักงานในองค์กร และมีแนวโน้มจะกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจากการศึกษาของบริษัทวิจัย Gartner ยังระบุว่า ตลาดจะเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงานด้านเทคโนโลยีถึง 30% ในปี 2563 เมื่อเทียบกับจำนวนการผลิตของมหาวิทยาลัย

“นาฏฤดี อาจหาญวงศ์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคมีแผนงานเกี่ยวกับ ดิจิตอล ทรานส์ฟอร์เมชันที่เริ่มทำมา 2 ปีแล้ว เพราะดีแทคต้องการเป็นผู้ให้บริการด้านดิจิตอลที่ดีที่สุดในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา ดีแทคได้พัฒนาแอพพลิเคชันใหม่ และพัฒนาแอพพลิเคชันเดิมให้สะดวกสบายมากขึ้น และเราใช้ Chat Bot ในการให้คำตอบลูกค้ามาหลายปีแล้ว
แผนงานจากนี้ไปถึงปี 2563 ของดีแทค ต้องการพนักงานมากกว่า 200 ตำแหน่งที่มีทักษะด้านดิจิตอล ซึ่งทักษะด้านดิจิตอลมี 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็น Hard Skill เช่น Cybersecurity, Analysis Big Data, Cloud Computing และส่วนของ Soft Skill ที่เป็นเรื่องของการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) วัฒนธรรมองค์กรแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Culture) หรือการรู้สึกปลอดภัยกับการเปลี่ยนแปลง การมี Soft Skill ตรงนี้จะช่วยการบริหารจัดการงานด้านทรัพยากรบุคคลมาก

MP26-3318-1A ก่อนอื่นก็ต้องมาดูว่า คนดิจิตอลต้องการทำงานแบบไหน เขาต้องการการทำงานที่เป็นโปรเจ็กต์ ไม่ใช่การนั่งทำงานซํ้าๆ แบบเดิมนานๆ มันน่าเบื่อ ซึ่งดีแทคปรับด้วยการเริ่มจากวัฒนธรรมองค์กร (Culture Transformation) สร้างเป็นดีเอ็นเอใหม่ คือ กล้าที่จะลอง มองให้ต่าง ทำให้ไว และไม่ว่าจะทำอะไร ต้องหวังผลลัพธ์ที่เป็นชัยชนะ คนที่นำแนวคิดเหล่านี้ไปใช้ เห็นได้ชัดจาก ทีมน้องๆ จากแคมเปญ Flip It Challenge หนึ่งในแคมเปญการปฏิวัติวัฒนธรรมองค์กร พลิกทัศนคติวิธีคิดและวิธีการทำงานของพนักงาน นำมาสร้างสรรค์ผลงานจากไอเดียของพนักงานมาประกวด และโปรเจ็กต์ที่ได้รับเลือกก็สามารถต่อยอด มาเป็นบริการที่สร้างประสบการณ์ดิจิตอลไปยังลูกค้าได้จริง เช่น แอพพลิเคชันดีแทควัน หรือดีแทคคอยท์

คนดิจิตอลยังมีความต้องการทำงาน ที่คนเห็นคุณค่า ดีแทคจึงให้โอกาสให้เวทีกับพนักงาน เช่น Ignite Incubator ชวนพนักงานสร้างนวัตกรรมในรูปแบบเดียวกับดีแทค แอคเซอเลอเรท โดยทีมที่มีไอเดียที่ดีที่สุดจะมีเวลา 3 เดือนในการทำงานสตาร์ตอัพ สร้างสรรค์ผลงานต้นแบบ และพัฒนาไปเป็นผลิตภัณฑ์จริงให้ลูกค้าใช้ในชีวิตประจำวัน

คนดิจิตอลไม่ชอบการทำงานที่มีขั้นตอนเยอะๆ ที่ทำงานแบ่งชนชั้น นอกจากนี้คนดิจิตอลยังชอบทำงานข้ามแผนก ข้ามบริษัท และชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ดีแทคได้ตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้น พนักงานดีแทคสามารถทำข้ามแผนก หรือได้ย้ายแผนก และยังได้ทำงานใหม่ๆ ตลอดเวลา และยังมี ดีแทค อะคาเดมี่ และเทเลนอร์ แคมปัส ทั้ง 2 ส่วนนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งแบบเฟสทูเฟส และแบบออนไลน์

บาร์ไลน์ฐาน กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล ได้วางกลยุทธ์ผ่าน 4 เสาหลัก ได้แก่

1. โครงสร้างองค์กร (Organization) ปรับรูปแบบโครงสร้างให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ลดขั้นตอนและลำดับชั้น เพื่อให้มีการตัดสินใจได้รวดเร็วมากขึ้น สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการปรับตัวทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้เกิดการโอนย้ายกับทำงานระหว่างหน่วยธุรกิจภายใต้เทเลนอร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพและการเรียนรู้การทำงานในระดับสากล

2. วัฒนธรรมองค์กร (Culture) การขับเคลื่อนสู่องค์กรดิจิตอลนั้น ไม่ใช่แค่การดึงดูดคนดิจิตอลเข้ามาในบริษัทเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการรักษาบุคลากรเหล่านี้ไว้ผ่าน “วัฒนธรรมองค์กร” ซึ่งที่ดีแทคมีลักษณะการทำงานที่เน้นการสร้างผลงานเป็นสำคัญ (project-driven culture) มากกว่าการทำงานซํ้าๆ แบบเดิม ทำให้งานประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้รวดเร็ว ปราศจากความล่าช้าของระบบที่มีขั้นตอนหลายระดับ (Bureaucracy)

ที่ดีแทค ซีอีโอไม่มีห้องทำงานแบบที่อื่น ใช้พื้นที่ทำงานเดียวกันกับพนักงานธรรมดา สะท้อนถึงแนวคิดความเสมอภาคของพนักงานในองค์กร ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดซึ่งถือเป็นดีเอ็นเอของบริษัทที่ว่า คิดต่าง (Think different) ทำเร็ว (Act fast) กล้าทำ (To be daring) และมุ่งมั่นที่จะชนะ (Passion to win)

3. ทักษะและความคิด (Skill & Capability) ส่งเสริมให้มีทักษะที่เหมาะสมกับการทำงานยุคดิจิตอล ทั้งทักษะความรู้ (Hard skill) และทักษะเชิงอารมณ์ (Soft kill)

4. เส้นทางพนักงานดิจิตอล (Digital Journey) ดีแทคยังให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรผ่านโครงการ Dtac Academy โดยนำเสนอเทรนนิ่งโปรแกรมและคอร์สอบรมออนไลน์ 24 ชั่วโมง โดยได้มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่าง INSEAD และ LBS มาออกแบบหลักสูตร ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การวิเคราะห์ข้อมูลไปจนถึงการทำนายพฤติกรรมผู้บริโภค

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,318
วันที่ 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว