“เครื่องดื่มหวาน” ขึ้นราคา 3-5 บ. หวังผู้บริโภคปรับพฤติกรรมลดน้ำตาล

27 พ.ย. 2560 | 11:39 น.
เครื่องดื่มน้ำหวานปรับขึ้นราคา 3-5 บาททุกยี่ห้อผลจากขึ้นภาษีสรรพสามิตใหม่ เชื่อปัจจัยราคาแพงส่งผลให้ผู้บริโภคปรับตัวลดน้ำตาล ผู้ประกอบปรับสูตรลดหวานเพิ่มทางเลือก

- 27 พ.ย. 60 - ผลจากการการบังคับใช้ภาษีสรรพสามิตใหม่ 13 สินค้า 4 ภาคบริการ โดยในจำนวนนั้นมีการเก็บภาษีน้ำหวานเพิ่มขึ้นในอัตรา 2% ซึ่งเริ่มบังคับใช้ไปแล้วในวันที่ 16 กันยายน 2560 หลังผ่านมาเกือบ 3 เดือน ทำให้ทุกค่ายน้ำหวานทุกยี่ห้อพร้อมใจกันขึ้นราคาถ้วนหน้า

จากการสำรวจตลาด พบว่า ราคาน้ำหวานที่เพิ่มขึ้นแทบทุกยี่ห้อ โดยเฉพาะประเภทชาเขียวยี่ห้อฟูจิ จาก 25 เป็น 30, โออิชิ และ อิชิตัน เพิ่มจาก 15 บาทเป็น 20 บาท เฉลี่ยราคาน้ำหวานปรับขึ้นตั้งแต่ 3 -5 บาท ในประเด็นดังกล่าว ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ประธานเครือข่ายไม่กินหวาน กล่าวว่า การปรับขึ้นของเครื่องดื่มประเภทน้ำหวานอยู่ในความคาดหมายของเครือข่ายไม่กินหวานอยู่แล้ว เนื่องจากผลจากการศึกษา ระบุว่าหากคนไทยจะปรับพฤติกรรมลดการกินหวานลงได้หากราคาเครื่องดื่มสูงขึ้น 20%

“การที่ราคาเครื่องดื่มรสหวาน โดยเฉพาะประเภทชาเขียวปรับราคาเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 3-5 บาท จึงไม่ถือว่าเกินกว่าที่คาดไว้และเชื่อว่าผู้บริโภคน่าจะปรับพฤติกรรมลดหวานลงได้เพราะราคาที่เพิ่มมากขึ้น” ทพญ.ปิยะดา กล่าวและว่า ยังต้องศึกษาว่ามีความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคเกิดขึ้นหลังจากการปรับราคาขึ้นหรือไม่ ซึ่งจะดำเนินการศึกษาอีกครั้ง

e-book อย่างไรก็ตาม การปรับพฤติกรรมจากการขึ้นราคาเครื่องดื่มน้ำหวานสามารถประเมินได้ใน 2 รูปแบบ ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยมุมแรกเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการที่มีความพยายามปรับสูตรเครื่องดื่มลดหวานมากขึ้น จะเห็นว่า ผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มปรับสูตรลดน้ำตาล เช่น เครื่องดื่มประเภท 3in1 ปรับลดปริมาณน้ำตาลลงไปแล้ว
“ผลจากการขึ้นภาษีผู้ประกอบการปรับตัวมากขึ้น โดยพยายามมองหาสูตรน้ำหวานที่ลดน้ำตาลลง ทำให้มีผลผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นเครื่องดื่มลดหวานวางตลาดเพื่อให้ผู้บริโภคเลือกได้มากขึ้น” ประธานเครือข่ายไม่กินหวาน ระบุ

ส่วนผู้บริโภคเองนั้น ทพญ.ปิยะดา มองว่าการขึ้นราคาจากการปรับภาษีจะช่วยเพิ่มการปรับพฤติกรรมมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากราคาที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดความตระหนักมากขึ้นและมองหาน้ำดื่มที่มีราคาลดลง หรือ อาจจะหันไปดื่มน้ำเปล่ามากขึ้น หรือหันมาลดการบริโภคน้ำตาลลง

อย่างไรก็ตามแม้จะมีมาตรการขึ้นภาษี เพื่อปรับพฤติกรรมลดการบริโภคหวานของผู้บริโภค แต่ก็ไม่ครอบคลุมถึงเครื่องดื่มรสหวานที่ชงขายเอง ซึ่งเรื่องนี้ ทพญ.ปิยะดา กล่าวว่า ได้ผลักดันมาตรการลดขนาดซองน้ำตาล โดยขณะนี้มีร้านกาแฟขนาดใหญ่เริ่มหันมาใช้น้ำตาลขนาด 4 กรัมมากขึ้นแล้ว ส่วนร้านค้าย่อยอื่นๆ ได้เข้าไปพูดคุยกับร้านขายเครื่องดื่มในสถาบันอุดมศึกษา เช่น คณะทันตแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งส่วนใหญ่ปรับสูตรลดหวานเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้เครือข่ายไม่กินหวาน ยังทำงานร่วมกับโรงเรียนทั่วประเทศ ในโครงการโรงเรียนอ่อนหวาน โดยให้ระดับความหวานในเครื่องดื่มไม่เกิน 6-10% และให้โรงเรียนขายเครื่องดื่มน้ำหวานเป็นเวลา

ส่วนร้านขายเครื่องดื่มตามท้องถนน ทพญ.ปิยะดา หวังว่า การณรงค์จะทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่จะบริโภคเครื่องดื่มลดหวาน โดยที่ผ่านมาได้สำรวจร้านเครื่องดื่มบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ราชวิถี และศาลายา พบว่าระดับน้ำตาลสูงมากกว่า 20 กรัมต่อแก้ว แต่หลังจากนี้เชื่อว่าทั้งผู้บริโภคและแม่ค้าขายน้ำหวานจะปรับตัวมีทางเลือกเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อย วิทยุพลังงาน