ร.ง.ยาสูบโอดภาษีสรรพสามิตใหม่พ่นพิษหวั่นกระทบเงินส่งเข้ารัฐลดฮวบ

27 พ.ย. 2560 | 11:02 น.
โรงงานยาสูบโอด ภาษีสรรพสามิตใหม่กระทบหนัก คาดยอดขายบุหรี่ปีนี้เหลือ 17,000 ล้านมวน ลดฮวบจากปีก่อน 28,000 ล้านมวน คาดปี 62 จะลดเหลือเพียง 8,500 ล้านมวน บุหรี่นอกจะครองตลาดแทน วอนรัฐทบทวนภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่ เหตุรัฐจะสูญเสียรายได้จากเงินนำส่งรัฐในรูปแบบภาษีต่างๆด้วย

นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการยาสูบ พร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบร่วมกันแถลงถึงผลกระทบจากพระราชบัญญัติ ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ว่า โรงงานยาสูบได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่เปิดช่องว่างให้บุหรี่ต่างประเทศที่ราคาเคยอยู่ที่ 72 บาทหรือ 90 บาท ปรับราคาลดลงมาอยู่ที่ระดับ 60 บาทได้ เพื่อให้เสียภาษีในอัตรา 20% ของมูลค่า ถือว่าไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมายในการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตให้ทันสมัย เป็นหลักสากล และเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ

dao

โครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่เปลี่ยนการจัดเก็บจาก 90% หรือ 9 เท่าของราคาหน้าโรงงาน หรือราคาสำแดงนำเข้า หรือ CIF มาเป็นการคำนวณภาษีจากปริมาณ และมูลค่าแทน ทำให้บุหรี่ต่างประเทศที่เป็นกลุ่มตลาดบน เสียภาษีลดลง โดยยังสามารถยืนราคาเดิมไว้ได้ ทำให้สามารถนำส่วนภาษีที่ลดลงนั้นมาอุดหนุนบุหรี่ตัวอื่นให้สามารถปรับราคาลดลงได้และทำให้เม็ดเงินภาษีที่ต้องเสียให้กับรัฐลดลงด้วยอย่าง บุหรี่ L&M ขนาด 7.1 เดิมมีภาระภาษีที่ 45 บาท แต่ภายใต้ภาษีใหม่ มีภาระภาษีเหลือเพียง 35.21 บาทเท่านั้น หรือลดลง 21.76% เพราะราคาขายปลีกลดลงจาก 72 บาทเหลือ 60 บาทต่อซอง

"โรงงานยาสูบต้องการเสนอให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวน ประกาศกระทรวงเกี่ยวกับโครงสร้างอัตราภาษี ใน พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ใหม่ และศึกษาผลกระทบรอบด้าน เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ เพราะหลังจากที่มีการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ ส่งผลต่อความไม่เป็นธรรมกับการค้าบุหรี่ในไทย ซึ่งทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบ ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ ร้านค้ายาสูบ และโรงงานยาสูบเองได้รับผลกระทบ รวมทั้งการนำส่งเงินเข้าคลัง"

ciga1

ทั้งนี้ บุหรี่ต่างประเทศที่ปรับลดลง ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนจากบริโภคบุหรี่ในประเทศเป็นบุหรี่ต่างประเทศแทน ซึ่งไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพหรือทำให้จำนวนผู้สูบลดลงตามเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายสรรพสามิตแต่ย่างใด แต่กลับทำให้ยอดขายบุหรี่ในประเทศลดลง แต่ 1 เดือนหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ สัดส่วนทางการตลาดของโรงงานยาสูบลดลงจาก 80% เหลือ 65.92% ขณะที่สัดส่วนบุหรี่ต่างประเทศเพิ่มเป็น 32.53% จากเดิม 20% โดยคาดว่าปี 2561 จะมียอดขายบุหรี่เหลือเพียง 17,000 ล้านมวนจากปี 2560 ที่จำหน่ายได้ 28,000 ล้านมวน และปี 2562 จะลดลงเหลือ 8,500ล้านมวน ซึ่งหากปล่อยไว้นาน สุดท้ายจะทำให้บุหรี่ต่างประเทศครอบงำครองตลาดในประเทศไทย ส่งผลให้โรงงานยาสูบ รวมถึงร้านค้า และเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบไม่สามารถอยู่ได้

ขณะเดียวกันรัฐจะเสียรายได้จากเงินนำส่งของโรงงานยาสูบ ที่ต้องนำส่งรัฐ 88% ของกำไรในแต่ละปี จากปี2560 ที่นำส่งรัฐกว่า 8,000 ล้านบาท กลับไม่มีเงินนำส่งเข้าภาครัฐในปี 2561 นอกจากนี้รัฐเองยังจะสูญเสียรายได้จากเงินนำส่งรัฐในรูปแบบภาษีต่างๆ จากการบังคับใช้ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ รวมมูลค่ากว่า 12,725 ล้านบาท

e-book