กรมสุขภาพจิตใช้การแพทย์ทางไกล เพิ่มการเข้าถึงผู้ป่วยจิตเวชในถิ่นทุรกันดาร

27 พ.ย. 2560 | 06:50 น.
กรมสุขภาพจิต ใช้“การแพทย์ทางไกล”  เพิ่มการเข้าถึงผู้ป่วยจิตเวชในถิ่นทุรกันดาร แก้ปัญหาขาดนัดที่พบสูงถึงร้อยละ60

เช้าวันนี้ ( 27 พ.ย.60 ) นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต  พร้อมด้วยรองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ประชุมผู้บริหารหน่วยงานต่างๆในสังกัดกรมสุขภาพจิต เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานประจำเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่โรงแรมอิมพีเรียลแม่ฮ่องสอน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอนและให้สัมภาษณ์ว่า นโยบายสำคัญของกรมสุขภาพจิตในปีงบประมาณ 2561 นี้  มุ่งเน้นขยายบริการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชหรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตเข้าถึงการดูแลรักษาเฉพาะทางอย่างมีมาตรฐานเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว  เช่นผู้ป่วยจิตเภทตั้งเป้าเพิ่มการเข้าถึงการรักษาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70  ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตั้งเป้าเข้าถึงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 55  ซึ่งผลสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2556 ทั่วประเทศมีผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตใจประมาณ 7 ล้านคน  โดยกำชับให้ผู้บริหารโรงพยาบาล/สถาบัน /ศูนย์สุขภาพจิต ทบทวนการดูแลรักษาผู้ป่วยและติดตามผลลัพธ์การทำงานอย่างต่อเนื่อง  เพิ่มการทำงานเชิงรุก ออกเยี่ยมบ้าน  พัฒนาศักยภาพให้ความรู้ด้านสุขภาพจิตและจิตเวชแก่เครือข่ายบริการทั้งโรงพยาบาลทุกระดับและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเพื่อช่วยคัดกรองค้นหาผู้ป่วยจิตเวช เข้าสู่กระบวนการรักษาให้หายขาดหรือบรรเทาความทุกข์ทรมานที่เกิดมาจากความผิดปกติในสมอง เพื่อคืนคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

สำหรับในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกล การเดินทางยากลำบาก เช่นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีกลุ่มชาวไทยพื้นที่สูงหลายชนเผ่าจำนวนมาก  และมีปัญหาป่วยเป็นโรคทางจิตเวชไม่ต่างจากพื้นที่ปกติทั่วไป เช่นโรคจิตเภท โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคจิตเวชที่เกิดจากการติดเหล้า   แต่การเข้าบริการยังน้อยมากคาดว่าน่าจะมีประมาณร้อยละ  5-10  ของผู้ป่วยทั้งหมด ทำให้อาการกำเริบรุนแรงและเป็นเรื้อรัง  รวมทั้งยังมีปัญหาการขาดนัดสูงซึ่งจากสถิติของโรงพยาบาลสวนปรุงในปีนี้พบสูงถึงร้อยละ 60 สูงกว่าพื้นที่ปกติ 6 เท่าตัว ที่มีปัญหาขาดนัดประมาณร้อยละ 10  ทำให้การรักษาไม่ได้ผลและยุ่งยากขึ้น  จึงมีนโยบายให้โรงพยาบาลจิตเวชนำระบบการรักษาทางไกลผ่านทางอินเตอร์เน็ต(Telemedicine) มาใช้กับผู้ป่วยจิตเวชด้วย  เนื่องจากผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลกินยาควบคุมอาการต่อเนื่อง พบจิตแพทย์ตามนัดปีละไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการใกล้บ้านที่สุด  ช่วยประหยัดค่าเดินทางซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีฐานะยากจน โดยให้โรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ เริ่มดำเนินการแห่งแรกเนื่องจากดูแลจังหวัดในภาคเหนือตอนบนทั้งหมดและมีชาวเขาจำนวนมาก  ก่อนขยายผลในพื้นที่ทุรกันดารจังหวัดอื่นๆต่อไป

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ ด้านนายแพทย์ธรณินทร์   กองสุข  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลสวนปรุงอยู่ระหว่างการจัดเตรียมความพร้อมระบบการรักษาทางไกลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต โดยจะทำการเชื่อมต่อสัญญานเครือข่ายระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ทุรกันดารของจังหวัดเชียงใหม่กับโรงพยาบาลสวนปรุง   ในเบื้องต้นได้วางแนวทางโดยจะให้ผู้ป่วยไปรับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่อยู่ใกล้ที่สุด  ผู้ป่วยและจิตแพทย์พบกันและพูดคุยกันผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ และให้การรักษาเหมือนกับผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์ที่แผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลสวนปรุงทุกประการ  แต่ไม่ต้องเดินทางเข้าเมือง    ในระยะเริ่มต้นนี้ จะคัดเลือกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่มีความพร้อมเข้าโครงการ ซึ่งอาจพิจารณาจากพื้นที่ที่มีผู้ปัญหาป่วยจิตเวชขาดยามาก รวมทั้งมีบุคลากรที่ผ่านการอบรมด้านจิตเวชด้วย  คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการตรวจรักษาทางไกลในช่วงเดือนมกราคม 2561 นี้  จากนั้นจะขยายผลไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอื่นๆครอบคลุม8 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 1 ได้แก่เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน แพร่ น่าน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน

ขณะเดียวกัน ในปีนี้โรงพยาบาลสวนปรุงได้เพิ่มบริการเชิงรุก โดยจัดหน่วยจิตเวชเคลื่อนที่ออกให้บริการในพื้นที่ทุรกันดารในอำเภอต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆในจังหวัดเชียงใหม่ในโครงการผู้ว่าราชการจังหวัดพบประชาชนซึ่งทำทุกเดือน  เดือนนี้ให้บริการที่ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย  ตรวจคัดกรองพบผู้ป่วยจิตเวชและผู้มีปัญหาสุขภาพจิตรวม 64 คน ร้อยละ 90 เป็นโรคเครียด  วิตกกังวล ซึมเศร้า เนื่องจากลักษณะการพูดคุยของชาวไทยพื้นที่สูงมักจะให้ความสำคัญเรื่องการปรับทุกข์ในใจน้อยกว่าเรื่องอาชีพเศรษฐกิจ  นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยติดเหล้า 10 คน  โรคอารมณ์ 2 ขั้ว เด็กเป็นโรคออทิสติก ได้ให้การรักษาและขึ้นทะเบียนผู้ป่วยส่งต่อให้สถานบริการในพื้นที่ ติดตามดูแลต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ต่อปีมีผู้ป่วยจิตเวชชาวไทยพื้นที่สูงเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสวนปรุงประมาณ 200 คน คิดเป็นร้อยละ 1 ของผู้ป่วยที่เข้ารักษาทั้งหมดกว่า 20,000  คน  ที่ผ่านมาได้จัดระบบพิเศษ โดยจัดจำนวนยาให้ผู้ป่วยกินครั้งละ 3-4 เดือน  และส่งต่อให้โรงพยาบาลเครือข่ายในพื้นที่ดูแลต่อ โดยได้ตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญจิตเวช เพื่อเป็นที่ปรึกษาโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตลอด 24 ชั่วโมงในการดูแลกรณีที่มีผู้ป่วยจิตเวชมีอาการกำเริบฉุกเฉิน  นายแพทย์ธรณินทร์กล่าว  e-book