ผ่องที่ดินฝากแบงก์บริหาร

26 พ.ย. 2560 | 07:09 น.
กสิกรไทย ตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย-อสังหาริมทรัพย์ หลังเศรษฐีขอคำปรึกษาบริหารสินทรัพย์ที่ดิน รับมือภาษีมรดก-ที่ดินสิ่งปลูกสร้าง เผยลูกค้าขนทรัพย์กว่า 200-300 แปลง มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท หวังบริหารหารายได้จ่ายภาษี คาดปี 61 เห็นโปรเจ็กต์ 10-20 แปลง มูลค่า 5-6 พันล้านบาท

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจบริการไพรเวตแบงก์ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันลูกค้าที่มีสินทรัพย์สูงเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป หรือกลุ่ม Private Banking และกลุ่ม High Net Worth นอกจากความต้องการทางด้านการลงทุนแล้ว ยังมีความต้องการคำปรึกษาทางการเงินในสินทรัพย์อื่นๆด้วย

[caption id="attachment_235460" align="aligncenter" width="503"] จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์[/caption]

สอดคล้องกับภาพปัจจุบันที่ลูกค้าส่วนใหญ่เปลี่ยนจากการถือสินทรัพย์มาเป็นเงินสดมากขึ้น เนื่องจากมีเรื่องของภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้มีค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงจากการเก็บสินทรัพย์ ประกอบกับการเติบโตของสินทรัพย์เริ่มช้าลง ทำให้คนรุ่นใหม่ที่ได้รับมรดกหรือถือครองสินทรัพย์มีความต้องการเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นรายได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องขาย แต่เปลี่ยนเป็นการบริหารในรูปแบบอื่นแทนเพื่อให้มีรายได้

ดังนั้นจากแนวโน้มความต้องการที่มีมากขึ้น ธนาคารจึงได้ตั้งทีมที่ปรึกษาทางการเงิน ภายใต้ Wealth Planning Service โดยจะมีทีมผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย และเชี่ยวชาญทางด้านอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งหมด 6 คน เพื่อช่วยบริหารทรัพย์สินที่ดินให้ลูกค้า เพื่อรับกับภาษีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นภาษีมรดก และในอนาคตคือภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง

บาร์ไลน์ฐาน ทีมงานที่ปรึกษาการเงินชุดนี้จะมาให้คำปรึกษาและดูแลบริหารจัดการเรื่องนี้เฉพาะ โดยดูความเป็นไปได้ของสินทรัพย์ จะเน้นการบริหารจัดการเพื่อเชิงพาณิชย์ เช่น การนำที่ดินมาพัฒนา หรือต่อยอดโครงการต่างๆ หรือจับคู่พันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อให้ที่ดินดังกล่าวมีการบริหารจัดการ เพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ในอนาคต และนำรายได้มาจ่ายภาษี นอกเหนือจากการครอบครองที่ดินไว้เฉยๆเป็นต้น

อย่างไรก็ตามภายหลังจากพูดคุยและให้คำปรึกษากับลูกค้า พบว่ามีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างต่างๆที่ผ่านการคัดกรองและสามารถไปพัฒนาบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ได้มีอยู่ประมาณ 200-300 แปลง คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยที่ดินส่วนใหญ่กว่า 70-80% ของจำนวนทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นของกลุ่มเศรษฐีที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น พื้นที่สุขุมวิท หรือแจ้งวัฒนะต่างๆ และที่เหลือจะเป็นต่างจังหวัด

ทั้งนี้โอกาสความเป็นไปได้ของการบริหารจัดการที่ดิน โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่เป็น Non Financial อาจจะใช้เวลานานในการพัฒนาเป็นโปรเจ็กต์ แต่เบื้องต้นคาดว่าในปี 2561 จะมีความชัดเจนในการเข้าไปบริหารจัดการที่ดิน และสามารถออกเป็นโปรเจ็กส์ต่างๆ ได้เห็นประมาณ 10-20 แปลง คิดเป็นมูลค่าราว 5,000-6,000 ล้านบาท เฉลี่ยแปลงละ 50-60 ล้านบาท จากจำนวนที่ดินทั้งหมดที่เข้ามาขอคำปรึกษา

วิทยุพลังงาน รูปแบบโปรเจ็กต์ จะมีทั้งในส่วนของการร่วมทุน (Joint Venture) เพื่อนำที่ดินไปพัฒนาโปรเจ็กต์ต่างๆ หรือการดีลเพื่อนำที่ดินให้เช่า เพื่อให้เกิดมูลค่าทางที่ดิน เพื่อนำรายได้ไปจ่ายภาษีในอนาคต อย่างไรก็ตามหากเป็นพื้นที่กทม.ส่วนใหญ่จะเป็นตึก และต่างจังหวัดจะเป็นโซลาร์ฟาร์ม

“นอกจาก 10-20 แปลงนี้ที่คาดว่าน่าจะเป็นโปรเจ็กต์ให้เห็นได้ก่อน ที่เหลือก็กำลังอยู่ระหว่างการดีลร่วมกับลูกค้า และการเข้าไปให้คำปรึกษากับลูกค้าธนาคาร ทำภายใต้ไลเซนส์การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ธนาคารมีไลเซนส์อยู่แล้ว เพราะเราไม่ได้เป็นนายหน้าขายที่ดิน แต่เป็นผู้ให้คำปรึกษาผ่านผู้เชี่ยวชาญที่ฝังตัวอยู่ในธนาคารเลย ซึ่งเชื่อว่ามีลูกค้าอีกจำนวนมากที่มีสินทรัพย์อยู่และต้องการให้เราช่วยบริหารให้ เพราะดูจากแนวโน้มคนเจเนอเรชันหลังๆ ชอบถือเงินสดมากกว่าสินทรัพย์ ประกอบกับมีเรื่องภาษีเข้ามา ทำให้เรามีโอกาสมากขึ้นในธุรกิจ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,317 วันที่ 26 - 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว