แผนรีด ‘ภาษีอี-คอมเมิร์ซ’ ล้มไม่เป็นท่า!

27 พ.ย. 2560 | 10:07 น.
1644

นักกฎหมายเตือน! ‘ภาษีอี-คอมเมิร์ซ’ ส่อแท้ง! กระทบอนุสัญญาภาษีซ้อนกว่า 80 ประเทศ
เหตุไปกำหนดให้ผู้ประกอบการ ‘มีสถานประกอบการในประเทศ’ แนะศึกษาโมเดลประเทศที่นำร่องไปก่อน ย้ำ! แก้กฎหมายต้องแก้ทั้งระบบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ... ) พ.ศ. ... เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ซึ่งกรมสรรพากรอยู่ระหว่างการทำคำชี้แจงและตอบคำถามจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอรายละเอียดเพิ่มเติมไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะหลังจากปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว ปรากฏว่า มีเสียงคัดค้านจำนวนมาก

นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ พาร์ตเนอร์และประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ จำกัด เปิดเผยว่า การจัดเก็บ ‘ภาษีอี-คอมเมิร์ซ’ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่นั้น ถือเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่อ่อนไหวและต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะการไปกำหนดให้นิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ให้ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในไทยนั้น จะกระทบกับอนุสัญญาภาษีซ้อน ที่ไทยลงนามกับ 80 ประเทศทั่วโลก ได้




leader_kittipong

“อนุสัญญาภาษีซ้อนกำหนดให้ผู้ประกอบการในประเทศนั้น ๆ ที่เสียภาษีในประเทศต้นทางแล้ว จะไม่ต้องเสียภาษีในประเทศปลายทางที่นำสินค้าไปขาย อย่าง สินค้าไทย เสียภาษีที่ไทยแล้ว เมื่อไปขายที่จีน ก็ไม่ต้องเสียภาษี เช่นเดียวกับ สินค้าจีน เมื่อนำเข้ามาขายในไทยก็ไม่ต้องเสีย เพราะเขาเสียต้นทางแล้ว และ ‘กฎหมายอี-คอมเมิร์ซ’ ที่กำลังจะออกนั้น ถือเป็นกฎหมายในประเทศ จะไปอยู่เหนือกฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้

นอกจากนั้น การที่กฎหมายกำหนดว่า หากมีการใช้โดเมนท้องถิ่นของไทย ให้ถือว่า สถานประกอบการถาวรในไทยนั้น ก็ไม่ตรงวัตถุประสงค์นัก เพราะโดเมนเป็นเพียงช่องทางบริการให้ผู้ซื้อผู้ขายมาเจอกัน แต่การเจรจาซื้อขายหรือมูลค่าที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของผู้ซื้อผู้ขาย แม้จะเก็บภาษีจากการใช้โดเมนไทยได้ จะไม่คุ้มมูลค่า จะน้อย หรือแม้แต่ข้อกำหนดที่มีการสร้างระบบการชำระเงินเป็นสกุลเงินไทย หรือมีการโอนเงินจากประเทศไทย ให้ถือว่า มีสถานประกอบการในไทยก็สามารถหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน

สิ่งที่ต้องระวัง คือ หากไทยไปตั้งเงื่อนไขเก็บภาษีจากรายใหญ่ ๆ เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก ไทยอาจจะถูกตอบโต้ทางการค้าด้วยการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทยทุกรายการก็เป็นได้ เหมือนที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บอกว่า จะมีการจัดเก็บภาษีชายแดนสำหรับสินค้าที่ส่งไปขายที่อเมริกา ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จะกระทบต่อสินค้าไทยทุกราย หรือแม้แต่เอกชนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ก็อาจจะกระทบไปด้วย


วิทยุพลังงาน

นายกิตติพงศ์ ย้ำว่า การจะจัดเก็บภาษี ‘อี-คอมเมิร์ซ’ จะแก้ไขประเทศเดียวไม่ได้ ต้องมานั่งคุยกัน ต้องไปดูว่า ประเทศอื่นเก็บอย่างไรในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง เก็บอย่างไร แล้วเรามีภาษีซ้อนกับเขาหรือไม่ ประเทศในยุโรป หรือกลุ่ม OECD เก็บอย่างไร

การแก้กฎหมายต้องแก้ทั้งระบบ เพราะโครงสร้างประมวลรัษฎรกรต้องปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องกัน เช่น การค้าขายดิจิตอลทำอย่างไร ที่จะเพิ่มความสะดวกในการเสียภาษี ซึ่งก็มีทำไปบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น การยื่นแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) การหักภาษี ณ ที่จ่าย ทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) ใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) แต่ยังเป็นการแก้เป็นจุด ๆ ลักษณะปะผุ ต้องแก้ทั้งระบบ คือ ให้คนไทยเสียภาษีจากแอพพลิเคชัน ใบกำกับภาษีก็ไม่ต้องออกเป็นตัวหนังสือ ใช้แอพพลิเคชันได้เลย

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญในระบบ ‘อี-คอมเมิร์ซ’ คือ เป็นช่องทางหนึ่งที่สนุบสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) สามารถขายสินค้าไปได้ทั่วโลก หากเอสเอ็มอีไทยสามารถส่งสินค้าออกไปขายได้เป็นล้านล้านบาท ไทยก็จะได้ประโยชน์จากภาษีเงินได้ที่เพิ่มขึ้น อย่าง ถ้าขายของออนไลน์ได้เพิ่ม 10 ล้านคน และในประเทศเสียภาษีคนละ 1 หมื่นบาท ประเทศก็จะได้ภาษีเพิ่มถึงปีละพันล้านบาท


DObMV69VoAEdMn9

“ต้องดูว่า ทำอย่างไรจึงจะดึงเอสเอ็มอีเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบภาษี ให้อัตราภาษีไม่แพง แต่ได้จำนวนมาก หรือให้อัตราพิเศษ การทำบัญชี ระบบภาษีที่ง่าย เพื่อให้การเสียภาษีครบถ้วน แต่ขณะนี้ โครงสร้างภาษีไทยยังไม่เอื้ออำนวยให้เอสเอ็มอีเข้ามาอยู่ในระบบภาษี”


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,317 วันที่ 26-29 พ.ย. 2560 หน้า 01-15

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว