เจ้าสัว ‘เจริญ’ ยึดสุรวงศ์

27 พ.ย. 2560 | 05:39 น.
1230

‘เจ้าสัวเจริญ’ ยึดกรุงเทพฯ ชั้นใน เขตบางรักยันปทุมวัน ไล่กว้านซื้อตึกแถวเก่าถนนสุรวงศ์-เจริญกรุง-สี่พระยา ลากยาวถึงคุ้งน้ำเจ้าพระยา ตุนแลนด์แบงก์เข้าพอร์ต ต่อยอดกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ

หลังเปิดตัวโครงการใหญ่ยักษ์ ‘วัน แบงคอก’ มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท บนแยกพระราม 4 ตัดวิทยุ ล่าสุด ก็มีเสียงสะท้อนหนาหูว่า ‘เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี’ แห่งค่ายเบียร์ช้าง และกลุ่มบริษัท ทีซีซีฯ ไล่ช็อปตึกเก่าทำเลทองเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ตุนไว้ในมืออย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมนำไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต


P1-3317-a



| เบียร์ช้างซื้อยกเขตบางรัก |
“ฐานเศรษฐกิจ” ลงพื้นที่สำรวจเขตบางรัก ไปตามถนนสี่พระยา สุรวงศ์ เจริญกรุง และพระราม 4 เขตปทุมวัน พบว่า ตลอดแนวถนนตามตรอกซอกซอย ส่วนใหญ่ยังคงสภาพเป็นตึกแถวเก่าแก่ หลายอาคารถูกปิดตาย เพราะเจ้าของได้ขายต่อให้กับนายทุนไปแล้ว และขณะนี้ เริ่มมีโครงการคอนโดมิเนียมเกิดขึ้น อาทิ โครงการศุภาลัย ทำเลสุรวงศ์และสี่พระยา, โครงการเดอะ รูม ของบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ฯ ถนนเจริญกรุง 30

จากการสอบถามประชาชนในพื้นที่ที่อยู่อาศัยบริเวณถนนสุรวงศ์ ท่าน้ำสี่พระยา ระบุว่า เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มีความตั้งใจซื้อตึกแถวเก่าในเขตบางรักเก็บไว้ในมือให้ได้มากที่สุด หากได้อาคารแบบยกเขตก็ดี เนื่องจากต้องการขยายพื้นที่พัฒนาโครงการในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น คอนโดมิเนียม ศูนย์การค้า โรงแรม และศูนย์การค้าแนวราบ โดยเฉพาะตลอดแนวโค้งน้ำเจ้าพระยาทั้งแถบ ที่ดิน และตึกเก่า อยู่ในมือของค่ายนี้หมดแล้ว เนื่องจากเจ้าสัวเจริญมีโครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ศูนย์การค้าแนวราบริมแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างซอยเจริญกรุง 72-76 และมีบ้านอยู่อาศัยตลอดจนบริษัทย่อยของเบียร์ช้างอยู่บนถนนสุรวงศ์ในเขตบางรัก ขณะเดียวกัน ยังได้ซื้อตึกแถวในซอยเจริญกรุง 32 และ 36 โดยเฉพาะซอย 36 เป็นอาคารของตำรวจดับเพลิงเก่า ซึ่งเป็นอาคารโบราณริมน้ำ


บาร์ไลน์ฐาน

| เน้น! ซื้อตึกแถวขึ้นห้าง |
นอกจากนี้ อาคารที่ถูกหมายตากว้านซื้อไป ล่าสุด จะอยู่บริเวณถนนสุรวงศ์ เป็นโรงแรมเก่า จำนวน 10 คูหา ชื่อโรงแรม ‘นิวโทรทาเคโร’ เยื้องโรงแรมโอเรียนเต็ล ตรงข้ามกับโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก และยังมีความพยายามเจรจาซื้ออาคารต่อจากเจ้าของออกไปอีก ทั้งปีกขวา ปีซ้าย ในซอยต่าง ๆ ซึ่งทราบว่า เจ้าสัวเจริญมีเป้าหมายนำตึกแถวที่รวมได้ ทุบพัฒนาเป็นห้างสรรพสินค้า แต่จะพัฒนาได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเจรจากับเจ้าของอาคาร ซึ่งราคาอยู่ที่ 10-20 ล้านบาทต่อคูหา รวมถึงตึกเก่าบริเวณไปรษณีย์กลางใกล้กับท่าน้ำสี่พระยาด้วย

เจ้าของตึกแถวรายหนึ่ง เล่าว่า “การซื้อจะเน้นอาคารที่ใกล้หมดสัญญา ที่เจ้าของอาคารปล่อยเช่าและไม่ต่อสัญญา จากนั้นก็จะขายให้กับค่ายดังกล่าว”

ปัจจุบัน กลุ่มของเจ้าสัวเจริญอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงแรมแมริออท บนถนนสุรวงศ์ ตรงข้ามตลาด วัดแขก ที่เชื่อมไปยังถนนสีลม ถัดมาได้เจรจาซื้อตึกเก่าในชุมชนซอยพระนคเรศ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ชุมชนสะพานเหลือง ติดถนนพระราม 4 ที่เชื่อมทะลุถนนสี่พระยาและสุรวงศ์ ข้างวัดแก้วแจ่มฟ้า จำนวน 15 อาคาร และอยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าของอาคารต่อเนื่อง รวมถึงอาคารฝั่งตรงข้าม ซึ่งบริเวณนั้นมีอาคารนับร้อยอาคาร รวมทั้งมีกระแสว่า ได้วางเงินมัดจำ เช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในซอยเยื้อง ๆ วัดแก้วแจ่มฟ้า ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดสด ชื่อ ‘ตลาดเพชรตลาดพลอย’ ซึ่งชาวบ้านในละแวกนั้นคาดว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ จะไม่ต่อสัญญา ซึ่งเจ้าของตึกระบุว่า หากซื้อ 20 ล้านบาทขึ้นไป ก็ยินดีขาย รวมทั้งที่ดินอีก 2 แปลง ที่เจ้าสัวเจริญซื้อไว้รอพัฒนา ที่ SITENARA 9 สาทร-นราธิวาสฯ ที่เชื่อมต่อมายังสุรวงศ์ได้

 

[caption id="attachment_130975" align="aligncenter" width="503"] สุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย[/caption]

| สุรวงศ์ราคา ตร.ว. 7-8 แสน |
นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอล ลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยฯ กล่าวว่า ยอมรับว่า ทำเลสุรวงศ์ เจ้าสัวเจริญได้ทยอยซื้อตึกเก่าอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นลักษณะซื้อเงียบ ๆ ค่อยเป็นค่อยไป และใช้ชื่อบริษัทอื่นซื้อ เพื่อป้องกันการโก่งราคาของเจ้าของอาคาร โดยเฉพาะทำเลที่ใกล้บ้านของเจ้าสัวเจริญที่ถนนสุรวงศ์ และที่ดินตึกแถวทำเลติดกับเอเชียทีค รวมถึงตึกโบราณที่เป็นสถานีตำรวจดับเพลิงเก่า ติดกับอาคารร้อย ชักสาม แต่เจ้าสัวเจริญยังไม่ได้พัฒนาแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ราคาอาคารพาณิชย์เก่าจะอยู่ที่ 15 ล้านบาท ส่วนราคาที่ดินที่สุรวงศ์ราคาตารางวาละ 7-8 แสนบาท ส่วนบริเวณท่าน้ำสี่พระยา ราคากว่า 5 แสนบาทต่อตารางวา ซึ่งไม่มีการซื้อขายและพัฒนาเต็มพื้นที่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมและเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ส่วนฝั่งตรงข้ามเป็นไอคอนสยามของสยามพิวรรธน์กับกลุ่มซีพี


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,317 วันที่ 26-29 พ.ย. 2560 หน้า 01-15

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว