‘ความโปร่งใส’ หรือ ‘ปมมืดที่ต้องปกปิด’ ... สรรหา ‘ผู้ว่าการ รฟม.คนใหม่’

30 พ.ย. 2560 | 04:31 น.
1056

รายงาน โดย ฐานเศรษฐกิจ |
ในที่สุดคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย เป็นประธาน ก็มีมติเห็นชอบกระบวนการสรรหา ‘ผู้ว่าการ รฟม.คนใหม่’ ไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อช่วงค่ำวันที่ 23 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ตามที่คณะกรรมการสรรหา ที่มี นายยุทธนา หยิมการุณ เป็นประธานเสนอ โดยหลังจากนี้จะได้มีการเชิญผู้ผ่านการสรรหามาเจรจาเงินประจำตำแหน่ง ก่อนที่จะต้องเสนอไปที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากที่ช่วงก่อนนี้ พบว่า มีการร้องเรียนเกิดขึ้น จนนายฤทธิกา สุภารัตน์ รักษาการผู้ว่าการ รฟม. ต้องทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม ให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว

 

[caption id="attachment_235392" align="aligncenter" width="488"] ไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย[/caption]

| คาดลงนามสัญญา ม.ค. 61 |
คาดว่า จะได้ตัว ผู้ว่า รฟม.คนใหม่ ภายในระยะเวลาที่ สคร. กำหนด คือ ภายใน 1 ปี นับจากที่ นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล อดีตผู้ว่าการ รฟม. ครบวาระไปเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2560 ทั้งนี้ คาดว่า กระบวนการสรรหาและเสนอ ครม. จะเรียบร้อยภายในเดือน ม.ค. 2561 เพื่อเร่งลงนามสัญญาอย่างเป็นทางการต่อไป โดยในครั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาฯ ได้เสนอชื่อ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม. เป็นผู้ได้รับคะแนนสูงสุด หลังจากการแสดงวิสัยทัศน์จากผู้ที่เข้ารับการสรรหา และแสดงวิสัยทัศน์ทั้งหมด 6 ราย โดยผู้สมัครทั้ง 6 ราย ที่ได้แสดงวิสัยทัศน์ไปเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2560 ประกอบด้วย นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ รฟม. (ฝ่ายกลยุทธ์และแผน), นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการ รฟม. (ฝ่ายวิศวกรรมและก่อสร้าง), นายรณชิต แย้มสอาด ที่ปรึกษา รฟม., นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล อดีตผู้ว่าการ รฟม., นายกฤต ธนิศราพงศ์ ผู้จัดการ บริษัท ซีวิลเอนจิเนียริ่ง จำกัด และนายศราวุฒิ ศรีศกุน อดีตผู้บริหารสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ซึ่งคาดหมายกันว่า ชื่อของนายภคพงศ์จะได้รับการเสนอให้เป็นผู้ผ่านการสรรหาในครั้งนี้ แต่ก็ปรากฏว่า มีกรณีร้องเรียนเกิดขึ้น


วิทยุพลังงาน

แม้จะมีมติออกมาจากบอร์ด รฟม. เรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังมีเสียงเล็ดลอดออกมาจากภายในห้องประชุมบอร์ด เมื่อค่ำวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา ว่า คณะกรรมการทุกคนห้ามให้ข้อมูลกับสื่อ โดยเฉพาะรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาในครั้งนี้ อีกทั้งยังมีประเด็นผลการสอบสวนของคณะกรรมการจากกระทรวงคมนาคม ที่ รฟม. มีหนังสือขอไปอย่างเป็นทางการ ว่า ผลการสอบสวนดังกล่าว รายงานกลับมาให้ รฟม. ประกอบการพิจารณาหรือไม่อย่างไร

| จับตา! เด็กปั้นบิ๊กรับเหมา ช.การช่าง |
ดูเหมือนว่า ปมการสรรหาผู้ว่าการ รฟม. ในครั้งนี้ โดนจับตาจากหลายฝ่ายว่า จะเป็นปมมืดจากความพยายามปกปิดข้อมูลให้มากที่สุด หรือเพื่อแสดงความโปร่งใสของการสรรหากันแน่ ทั้ง ๆ ที่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการ การแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัคร ล้วนดำเนินการตามขั้นตอนทั้งสิ้น แต่กลับไม่ยอมเปิดเผยให้สื่อได้รับรู้ เสมือนว่า กลัวจะเข้าไปรับรู้ในบางเรื่องที่มีความลับซ่อนอยู่กันแน่

ล่าสุดนั้น ยังมีข้อมูลเล็ดลอดออกมาอีกว่า กรณีรักษาการผู้ว่าการ รฟม. ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม ให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการร้องเรียนเรื่องการสรรหาของผู้สมัครบางคนนั้น กลับได้รับคำตอบว่า เป็นเรื่องภายใน รฟม. ซึ่งเป็นไปตามคาดว่า มีการยื้อหรือดึงเรื่องการสรรหาเอาไว้ก่อน เพื่อรอขั้นตอนประกอบ ให้สามารถอนุมัติการสรรหาครั้งนี้ได้อย่างไร้ข้อครหาเกิดขึ้นในภายหลังได้อีก เพราะหากบอร์ดดันทุรังผ่านการเห็นชอบ แต่ภายหลังปรากฏว่า พบความผิดเกิดขึ้นจริง คณะกรรมการบอร์ดและผู้ที่เกี่ยวข้อง ใครจะกล้าเสนอหน้าออกมารับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าว


TP12-3317-A

สำหรับตัวเต็งอย่างนายภคพงศ์นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ที่ได้ผ่านการสรรหาให้นั่งในตำแหน่งผู้ว่าการ รฟม. ครั้งนี้ คือ เด็กปั้นที่สนิทสนมกับกลุ่มบริษัทรับเหมา อย่าง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) มากที่สุด บุคลิกในการทำงานสามารถตัดสินใจได้รวดเร็ว ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยและผู้จัดการโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ามาแล้วหลายเส้นทาง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT ส่วนต่อขยาย ที่ภายหลังกลับกลายมาเป็นผู้หนึ่งที่ติดชนักความผิดเกี่ยวกับการก่อสร้าง จนนำไปสู่การร้องเรียนก่อนจะได้รับตำแหน่งผู้นำสูงสุดในองค์กร รฟม.

ดังนั้น คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า เมื่อนายภคพงศ์สามารถฝ่าฟันอุปสรรคจนก้าวขึ้นไปนั่งตำแหน่งผู้ว่าการ รฟม. เรียบร้อยแล้ว จะสามารถนำพาองค์กรรถไฟฟ้าแห่งนี้ ก้าวหน้าได้มากน้อยแค่ไหน หรือจะต้องพบกับอุปสรรคอีกนับไม่ถ้วน จะมีการร้องเรียนเกิดขึ้นอีกหรือไม่ จนเป็นเหตุฉุดรั้งให้โครงการล่าช้าดังเช่นที่ผ่านมา ส่งผลให้องค์กร รฟม. เสมือนเป็นดินแดนอาถรรพ์ หากใครจะขึ้นไปรับตำแหน่ง ก็จะต้องพบเจออุปสรรค เพื่อพิสูจน์ความแข็งแกร่งก่อนเสมอ


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,317 วันที่ 26-29 พ.ย. 2560 หน้า 12

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว