เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์ | รถไฟเชื่อม ‘ท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือน้ำลึกทวาย’ ลุ้นบรรจุโครงข่ายในแผนพัฒนา ‘อีอีซี’

30 พ.ย. 2560 | 05:36 น.
1230

เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์ โดย ฐานเศรษฐกิจ |
จัดเป็นอีกหนึ่งเมกะโปรเจ็กต์ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน เพื่อรองรับแผนการพัฒนาที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งสามารถเชื่อมโยงระหว่าง ‘ท่าเรือแหลมฉบัง’ กับ ‘ท่าเรือน้ำลึกทวาย’ ที่รัฐบาลไทยสนับสนุนให้รัฐบาลเมียนมาเร่งผลักดันโครงการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

โครงการดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากนโยบายของการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2555 ที่ได้เห็นชอบให้การสนับสนุนโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยกระทรวงคมนาคมของไทยวางแผนการเชื่อมโยงถนนและทางรถไฟจากโซนพื้นที่ฝั่งทะเลตะวันออกผ่านไปยังพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายแดนบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ก่อนที่จะเชื่อมไปยังท่าเรือน้ำลึกในเมียนมา

รถไฟเส้นทางนี้จัดเป็นอีกหนึ่งเส้นทางโลจิสติกส์ในแนวเศรษฐกิจด้านใต้ (Southen Economics Corridor : SEC) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยกับเมียนมา




TP12-3317-1B

สำหรับแนวเส้นทางโครงการที่มีความเหมาะสมตามผลการศึกษา จะผ่านสถานีชายแดนบ้านพุน้ำร้อน-สถานีชุมทางหนองปลาดุก-สถานีพานทอง-ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทางประมาณ 322 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี, ราชบุรี, นครปฐม, สมุทรสาคร, กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา และชลบุรี แนวเส้นทางไม่ตัดผ่านใจกลางกรุงเทพฯ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางรถไฟสายใต้ ตามแนวเส้นทางสถานีปากท่อ-สถานีวงเวียนใหญ่ ได้อีกด้วย แบ่งออกเป็น 7 ช่วงดำเนินการ ซึ่งบางช่วงของแนวเส้นทางจะมีการเวนคืนสร้างแนวเส้นทางใหม่

ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจในการช่วยลดต้นทุนทางโลจิสติกส์ นอกเหนือจากช่วยร่นระยะทางและเวลาการเดินทางในการขนส่งสินค้า ซึ่งตามผลการศึกษาคาดว่า จะมีการขนส่งสินค้าคิดเป็นจำนวน 5.08 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี (เมื่อเปิดบริการถึงปี 2594) จึงเป็นการเพิ่มศักยภาพการขนส่งของไทย และส่งเสริมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เนื่องจากท่าเรือน้ำลึกทวายจะเป็นพื้นที่การลงทุนอุตสาหกรรมและศูนย์การคมนาคมขนส่งที่สำคัญแห่งใหม่ในภูมิภาคอาเซียน จึงเป็นการเปิดประตูการค้าออกสู่ทะเลได้อีกเส้นทางหนึ่งด้วย

เบื้องต้นนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ฝ่ายญี่ปุ่นยังได้ดำเนินการศึกษาการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ขนาดเล็กในแนวเส้นทางนี้บางส่วนไปแล้ว ขณะนี้ ยังมีลุ้นว่า คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่อีอีซีจะหยิบโครงการดังกล่าวออกมาผลักดันเพื่อรองรับการพัฒนาอีอีซีหรือไม่ หรือจ้างศึกษาเพื่อเก็บขึ้นหิ้ง ร.ฟ.ท. ก็ยังมีลุ้นกันต่อไป


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,317 วันที่ 26-29 พ.ย. 2560 หน้า 12

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว