เอ็ตด้าเร่งสร้างกองทัพไซเบอร์ ผนึก 5 มหาวิทยาลัยสร้างบุคลากรป้อนอุตฯ 1.2 หมื่นคนใน 3 ปี

28 พ.ย. 2560 | 12:15 น.
เอ็ตด้า เดินหน้าโครงการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 5 มหา’ลัยนำร่องสร้างผู้เชี่ยวชาญ 1,000 คน พร้อมร่างหลักสูตรใหม่สอดรับความต้องการอุตสาหกรรม วางเป้า 3 ปีผลิตป้อนวงการ 12,000 คน

[caption id="attachment_235377" align="aligncenter" width="398"] ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์[/caption]

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ETDA ได้ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระยะเวลา 3 ปี โดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างเครือ ข่ายความร่วมมือพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของไทย โดยตั้งเป้าหมายไว้ 12,000 คน ภายในปี 2564

สำหรับหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระยะ 3 ปี ได้ใช้แนวทาง 3 ประสาน คือ 1. อุปสงค์ 2. อุปทาน 3. ค่าตอบแทนพิเศษและใบรับรอง เรียกว่าโมเดล Cybersecurity Capacity Building Ecosystem ในการพัฒนาบุคลากรดังกล่าวเพื่อให้เกิดห่วงโซ่อุปทานที่สอดคล้องกับอุปสงค์ และสร้างแรงจูงใจจากค่าตอบแทนพิเศษที่จะได้รับเพิ่มจากการมีใบรับรองต่างๆ ในแต่ละบุคคล โดยการพัฒนาโมเดลนี้ในช่วงเริ่มต้นอาจจะสร้างบุคลากรได้จำนวนจำกัด แต่ในระยะยาวจะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาด ทำให้การพัฒนาบุคลากรด้านความมั่น คงปลอดภัยไซเบอร์มีความยั่งยืน

นอกจากนี้ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อร่วมมือด้านวิชาการและการจัดทำหลักสูตรอบรมที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาดังกล่าว ในการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะของบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ กับสถาบันการศึกษาชั้นนำ 5 แห่งของไทย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยรังสิต โดยในปีงบประมาณ 2561 ตั้งเป้าหมายพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ นำร่องไว้ 1,000 คน โดยใช้งบประมาณโครงการไม่เกิน 100 ล้านบาท

บาร์ไลน์ฐาน “ปัญหาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) กำลังเป็นเรื่องท้าทายของทุกประเทศ เนื่องจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบเพื่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต เกิดความเสียหายมหาศาลจากอาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งมีตัวเลขประมาณการจาก Forbes ว่า แนวโน้มความเสี่ยงด้านภัยคุกคามไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้การจ้างงานทั่วโลกในด้าน Cyber Security จะทะยานถึง 3.5 ล้านตำแหน่งงาน ในปี 2564 ขณะที่ บริษัท การ์ทเนอร์ฯ ระบุว่าเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการใช้จ่ายด้านนี้ทั้งในส่วนผลิตภัณฑ์และบริการสูงถึงกว่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ”

สำหรับอาชีพทางไซเบอร์ซึ่งตลาดมีความต้องการสูง ประกอบด้วย 7 สมรรถนะ ได้แก่ การพัฒนาและออกแบบระบบ, การดูแลระบบ, การบริหารและผู้ตรวจสอบระบบ, การรับมือภัยคุกคาม, การวิเคราะห์ข้อมูล, การเก็บพยานหลักฐาน และการดำเนินการสืบสวนสอบสวน โดยในส่วนของระยะเวลาการอบรมอยู่ที่ 1-3 ปี ตามระดับของหลักสูตร ซึ่งแบ่งออกเป็น หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ หลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้น หลักสูตรอนุปริญญา และหลักสูตรปริญญาตรี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,317 วันที่ 26 - 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว