‘O2O’ กลยุทธ์เชื่อม IoT รับมือ Digital Disruption ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่

28 พ.ย. 2560 | 12:58 น.
1957

บิ๊กเนมขานรับ Digital Disruption ชู “O2O” กลยุทธ์ออมนิแชนเนล ผนึกออนไลน์-ออฟไลน์ เชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ ดึงจุดแข็งที่มี ปิดจุดอ่อนที่เกิด ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของการก้าวเข้าสู่ IoT

ขณะที่ ผู้ประกอบการไทยต่างพาเหรดเข้าสู่ธุรกิจ ‘อี-คอมเมิร์ซ’ เพราะเชื่อว่า เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจและทำเงิน โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ห้างร้านต่างเร่งปรับตัว เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลง การผสมผสานรากลึกที่มีอยู่ หรือที่เรียกว่า ‘ออฟไลน์’ ให้เข้ากับโลกยุคใหม่ ที่เรียกว่า ‘ออนไลน์’ จนกลายเป็น ‘ออมนิแชนเนล’ จึงเกิดขึ้น วันนี้กลยุทธ์ ‘O2O’ จึงถูกจับตามอง เพราะเชื่อว่า จะตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการก้าวสู่ยุค IoT

‘O2O’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกธุรกิจ เพราะแบรนด์ดังระดับโลกต่างเดินบนเส้นทางนี้ ไม่ว่าจะเป็น Amazon อี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ของโลก วันนี้ก็มี ‘Amazon Go’ ร้านสะดวกซื้อ ที่เพียงเปิดแอพก็สามารถหยิบสินค้าในร้านออกไปได้ทันที โดยไม่ต้องชำระเงิน เพราะระบบจะตัดเงินจากบัญชีโดยอัตโนมัติ และไม่ใช่เฉพาะในประเทศแถบยุโรปเท่านั้นที่นิยม ในประเทศจีนก็มีการนำโมเดล O2O ไปใช้ โดย Alibaba ที่ให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าจากเว็บ อี-คอมเมิร์ซ และมารับสินค้าที่ร้านสะดวกซื้อที่กระจายนับหมื่นแห่ง และยังใช้ร้านดังกล่าวเป็นจุดให้บริการชำระเงิน สินเชื่อ รวมถึงเปลี่ยนสินค้าได้ด้วย

สำหรับในเมืองไทยแล้ว นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลพลาซา, เซ็นทรัลเฟสติวัล กล่าวแสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การทำตลาดในปัจจุบัน ต้องหลอมรวมออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ เป็นสิ่งจำเป็นในทุก ๆ ธุรกิจ ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจค้าปลีกเท่านั้น

“ธุรกิจที่เน้นอินโนเวชัน ก็ต้องสนใจเรื่องของออฟไลน์ ส่วนธุรกิจออฟไลน์ ก็ต้องก้าวให้ทันกับการเข้ามาของเทคโนโลยีที่มาเร็วและแรง โดยเฉพาะในยุค Digital Disruption จะก้าวให้ทันตลอดเวลาก็ต้องใช้เงินลงทุนสูง ดังนั้น การผสมผสานกับสิ่งที่มีอยู่และเป็นจุดแข็ง อย่าง ออฟไลน์ จึงมีความสำคัญมาก ทุกวันนี้หลายธุรกิจเลือกออมนิแชนเนลมาเป็นกลยุทธ์ในการสื่อสารและขับเคลื่อน ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง”

 

[caption id="attachment_18550" align="aligncenter" width="334"] ชำนาญ เมธปรีชากุล ชำนาญ เมธปรีชากุล[/caption]

เช่นเดียวกับ นายชำนาญ เมธปรีชากุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ที่กล่าวว่า “วันนี้เป็นการผนึกรวม Online กับ Offline เข้าด้วยกัน และต้องทำให้เชื่อมกันแบบไร้รอยต่อ จนที่สุดแล้วเป็น No line ในอนาคต”

อย่างไรก็ดี การเข้ามาของ Digital ถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งในธุรกิจรีเทล ซึ่งผู้ประกอบการต้องรู้จักเตรียมแผนรองรับ โดย นายโลร็องต์ โปซ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เพาเวอร์บาย จำกัด เอง ยอมรับว่า กลยุทธ์ออมนิแชนเนลมีบทบาทสำคัญ ที่ผ่านมาบริษัทพัฒนาระบบ O2O เพื่อให้เชื่อมกันแบบไร้รอยต่อ จนเป็นรูปธรรมและทดลองเปิดตัวบริการ Click & Collect เมื่อ 6 เดือนก่อน โดยลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าหรือหาข้อมูลได้ ทั้งที่สาขาหรือช็อปออนไลน์ รวมทั้งมีเครื่องมือมาช่วยในการหาข้อมูล เช่น Online Kiosk, Power Buy Click & Collect และ Power Buy Digital Signage ร้านเพาเวอร์บายโฉมใหม่ในรูปแบบดิจิตอล และในอนาคตพนักงานจะมีแท็บเลตเป็นเครื่องมือในการช่วยขาย พื้นที่ร้านก็จะมีขนาดเล็กลง และแน่นอนว่า การเข้ามาของโลกออนไลน์ ทำให้ต้องปรับคอนเซ็ปต์จากมีไว้เพื่อขาย เป็นมีไว้เพื่อแนะนำ ในฐานะกูรูผู้เชี่ยวชาญ


MP36-3317-A

“ปีนี้ยอดขายผ่านออนไลน์จะมีสัดส่วนราว 5% แต่การผนึกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน ทำให้เพาเวอร์บายมียอดขายเติบโตขึ้น 8% และในปีหน้า เชื่อว่า ยอดขายจะเติบโตขึ้น 10-15%”

ขณะที่ แบรนด์ร้านอาหารปิ้งย่างชื่อดัง อย่าง ‘บาร์บีคิวพลาซ่า’ ที่เน้นสร้างแบรนด์ผ่านคาแรกเตอร์ มาร์เก็ตติ้ง จนชื่อของ ‘บาร์บีกอน’ กระหึ่มติดปากนักชิม ก็ยังหันมารุกออนไลน์ มาร์เก็ตติ้ง พร้อมเชื่อมโยงการสื่อสารแบรนด์และการตลาดไปยังออฟไลน์

โดย น.ส.บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แบรนด์ ‘บาร์บีคิวพลาซ่า’ บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวว่า นอกเหนือจากคาแรกเตอร์ มาร์เก็ตติ้ง แล้ว ออนไลน์ มาร์เก็ตติ้ง มีความสำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ช่องทางไลน์แอพพลิเคชัน เฟซบุ๊ก หรือ โซเชียลมีเดียต่าง ๆ

“บริษัทพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เข้ากับออฟไลน์ โดยมีบาร์บีกอนเป็นสื่อกลางสำคัญในการเชื่อมโยงแบรนด์ไปสู่ลูกค้า ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ การจับมือ Grab ที่มีความแข็งแกร่งด้านแอพพลิเคชันเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ นำเอารถที่ให้บริการของ Grab จำนวน 5 คัน มาตกแต่งด้วยสติกเกอร์ลวดลายบาร์บีกอนรอบคัน เพื่อจัดทำเป็นรถบาร์บีกอนฟลีต (Bar B Gon Fleet) ภายใต้คอนเซ็ปต์ Gon กลับ Grab”

และเพิ่มกิมมิก (Gimmick) ภายในรถด้วยของสะสมจากบาร์บีกอน เช่น ฮู้ดดี้ หมอน ตุ๊กตาบาร์บีกอน สายคาดเข็มขัดนิรภัย ฯลฯ ซึ่งพร็อพต่าง ๆ เหล่านี้ มีไว้ให้ผู้โดยสารถ่ายรูปเล่นขณะนั่งรถ เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนเมือง ที่ชอบเซลฟีถ่ายรูป ทำให้การเดินทางเต็มไปด้วยสีสันและความสนุก

 

[caption id="attachment_51410" align="aligncenter" width="312"] พ.ญ.นลินี ไพบูลย์ ประธานกรรมการ บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด พ.ญ.นลินี ไพบูลย์ ประธานกรรมการ บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด[/caption]

ด้าน พ.ญ.นลินี ไพบูลย์ ประธานกรรมการ บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด กล่าวว่า ได้ให้ความสำคัญกับการทำตลาดออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน อย่าง แคมเปญล่าสุด ได้เปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ เรื่อง คุณหลวง 4.0 ที่ได้ เป๊ก ผลิตโชค มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ผลิตภัณฑ์มาสก์หน้า กิฟฟารีน สเตย์-ซี 50 ที่มีการทำตลาดครบวงจร โดยเน้นไปที่การทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ และเกมออนไลน์ โดยเตรียมงบประมาณสำหรับแคมเปญดังกล่าว 40 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณในสื่อออนไลน์ 40% และออฟไลน์ 60%

“บริษัทพยายามจะบุกออนไลน์มาโดยตลอด และพยายามจะทำให้สมาชิกกิฟฟารีนได้ประโยชน์จากการตลาดออนไลน์มากขึ้น จากก่อนหน้านี้ ที่บริษัทมีการเปิดตัวแอพพลิเคชัน กิฟฟารีน เอ็กซ์เพิร์ท ที่เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกและผู้บริโภค รวมถึงการมีบริการเสริมต่าง ๆ ซึ่งพบว่า ที่ผ่านมายอดขายออนไลน์เติบโตถึง 300% แต่ยังมีมูลค่าสัดส่วนที่น้อย”

โดยที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดช่องทางการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งทางเฟซบุ๊ก ไลน์ และคอลล์เซ็นเตอร์ รวมถึงการสั่งซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ ที่สมาชิกและผู้บริโภคสามารถเลือกใช้บริการได้ตามต้องการ ซึ่งมีระบบการจัดส่งสินค้า ทั้งทางไปรษณีย์และรถจักรยานยนต์ นอกเหนือจากการซื้อสินค้าผ่านช่องทางสำนักงานสาขาที่มีอยู่ทั่วประเทศ กลยุทธ์ O2O ที่เริ่มระอุ วันนี้ไม่ใช่เป็นเพียงสีสัน แต่มีความสำคัญและเชื่อว่าจะเป็นเทรนด์ในอนาคต โดยเฉพาะในยุค IoT


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,317 วันที่ 26-29 พ.ย. 2560 หน้า 01-36

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว