CMKL ตั้งหลักสูตรใหม่ ปั้นคนอีเวนต์ป้อนตลาด

29 พ.ย. 2560 | 14:17 น.
ภาครัฐ-เอกชน เดินหน้าพัฒนาบุคลากรช่วยผลักดันเศรษฐกิจ สจล.ผนึกม.คาร์เนกีเมลลอน ตั้ง ม.ซีเอ็มเคแอล ผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรม ด้านซีเอ็มโอจับมือม.กรุงเทพ สร้างคนป้อนวงการอีเวนต์

น.พ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงความ ร่วมมือการจัดตั้งมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) ว่า เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กับ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน สถาบันการศึกษาชั้นนำด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ทัดเทียมกับมาตรฐานโลก และตอบโจทย์โรดแมปของรัฐบาลทั้ง 4 นโยบาย ได้แก่ 1. การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยทางนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ 2. การเป็นสถาบันหลักด้านวิชาการของประเทศและนานาชาติ 3.การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อยุทธศาสตร์ชาติ และ 4.การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ที่เน้นการเรียนรู้แบบ Problem-Based, Case-Based และ Search-Based

บาร์ไลน์ฐาน ทั้งนี้ ภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร ตามความต้องการของภาคเศรษฐกิจ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ที่มีอัตราการเติบโตสูง อาทิ ด้านโลจิส ติกส์ และการคมนาคม, หุ่นยนต์ สมองกล, ธุรกิจดิจิตอลเป็นต้น ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนโดยใช้มาตรา 44 เปิดให้สถาบันการศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาจัดตั้งในไทยได้

ด้านผศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวว่า ได้เปิดการเรียนการสอนใน 2 สาขาแรก ได้แก่ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ สำหรับปริญญาเอก-โท และ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ในระดับปริญญาโท ซึ่งมีผู้สนใจสมัครกว่า 100 คน ส่วนนักศึกษาระดับปริญญาเอก ในปีนี้เปิดรับเพียง 5 คนและระดับปริญญาโท 10 ท่าน สำหรับนักศึกษารุ่นแรกจะได้รับทุนการศึกษาจากองค์กรเอกชนที่เข้ามาให้การสนับสนุน และสามารถสร้างนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลออกสู่ตลาดโลกภายในระยะเวลาเพียง 2-3 ปี ในอนาคตจะเปิดสอนระดับปริญญาตรี และเพิ่มสาขาอื่นๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

MP36-3317-C ขณะที่นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือ CMO และในฐานะ นายกสมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับ สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน และ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดหลักสูตรการผลิตอีเวนต์ และการจัดการนิทรรศการและการประชุม ในคณะนิเทศศาสตร์ ขึ้นเป็นหลักสูตรแรกของไทย โดยความร่วมมือในครั้งนี้ บริษัทจะร่วมพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีความทันสมัย ตลอดจนออกแบบเนื้อหา และกระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดวิชาและนวัตกรรมที่ทันสมัยตอบความต้องการของภาคธุรกิจและตลาดงานด้านอีเวนต์

ปัจจุบันตลาดธุรกิจอีเวนต์ในประเทศมีมูลค่ารวมกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยบริษัทออร์แกไนเซอร์ กว่า 100 บริษัท ซึ่งธุรกิจอีเวนต์เป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมในทุกแขนง และจะเติบโตไปอีกในธุรกิจท่องเที่ยว ไมซ์ วัฒนธรรมและอื่นๆ ตลอดจนการเติบโตของธุรกิจอีเวนต์ ไทยในต่างประเทศ ที่คาดว่าจะมีโอกาสเติบโตอีกมาก ในลักษณะการให้บริการ “อีเวนต์ครบวงจร” ตั้งแต่การสร้างสรรค์งาน Creative Event การพัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ประเภทอินเตอร์แอกทีฟ การให้บริการด้านกลยุทธ์การตลาด รวมทั้งการให้เช่าอุปกรณ์ระบบภาพ แสง และเสียง ซึ่งหลักสูตรการผลิตธุรกิจอีเวนต์ นี้ ถือว่าเป็นการรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทุกๆ ด้าน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,317 วันที่ 26 - 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว