ผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อตัวเองและพวกพ้อง?

28 พ.ย. 2560 | 06:00 น.
การเข้าไปถือหุ้นในบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ของ ตระกูลศรีวัฒนประภา เจ้าของกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ในสัด ส่วนที่สูงเป็นอันดับ 4 กำลังถูกท้าทายและตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ เป็นคู่สัญญาหลักของ AOT ในการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์สนามบิน แม้จะเป็นการลงทุนของนักลงทุนปกติก็ตาม แต่อาจเข้าข่ายขัดแย้งผลประโยชน์ในกิจการสัมปทานของรัฐได้หรือไม่? นั่นคือคำถามที่สังคมกังขาและเฝ้าจับตา

ในอดีตที่ผ่านมาก็เคยเกิดตัวอย่างของหลายคดีที่บ่งชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมในลักษณะของ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ Conflict of Interest

เริ่มที่ โครงการการออกสลากพิเศษเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว โดย นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ กรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ในขณะนั้นมีมติ อนุมัติหลักการให้ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว และให้นำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามโครงการไปใช้ประโยชน์เพื่อสังคม ให้ยกเว้นและลดหย่อนภาษีตาม พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 310) และภาษีการพนันตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478

แย้งกับวัตถุประสงค์การจัดตั้ง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มุ่งหารายได้เข้ารัฐด้วยการจำหน่ายสลาก ซึ่งมีแนวปฏิบัติการจัดสรรเงินรางวัลอย่างชัดเจนว่า 60% ของเงินรายได้จากการขายสลากจะนำไปจ่ายค่ารางวัล 28% นำเข้าแผ่นดิน และ 12% ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน แต่โครงการนี้กลับไม่ได้กำหนดอัตราส่วนรายรับรายจ่ายไว้ ทั้งยังไม่ได้จำกัดงวดตามแนวปฏิบัติที่ทางกองสลากเคยดำเนินการมาแต่อย่างใด

การออกสลากพิเศษลักษณะนี้จึงไม่ใช่สลากกินแบ่งรัฐบาล หรือสลากการกุศล ตาม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงไม่อาจได้รับการงดเว้นการลดหย่อนภาษีตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการงดเว้นประมวลรัษฎากร พ.ศ.2540 และกฎกระทรวงปี 2503 และปี 2543 นอกจากนี้การไม่นำเงินรายได้จากการหักค่าใช้จ่ายส่งเข้า กระทรวงการคลังถือว่าไม่ถูกต้อง แม้ว่าจะนำไปใช้ในโครงการเพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆ แต่เป็นในลักษณะเอื้อประโยชน์ด้านประชานิยมให้พรรคการเมืองเสียงข้างมากถือว่า ผิดหลักการบริหารราชการแผ่นดิน รวมค่าเสียหายแก่รัฐเป็นเงินกว่า 36,961.78 ล้านบาท

การมีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการดังกล่าวในลักษณะสลากกินรวบนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เนื่องจากใช้ทรัพย์สินและบุคลากรของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลดำเนินการตามโครงการดังกล่าว และการมีมติให้นำเงินของรัฐ ออกไปใช้โดยไม่มีสิทธิที่จะนำไปใช้ได้นั้น นายทักษิณในฐานะนายกฯ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินจะต้องดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงเป็นการกระทำฝ่าฝืนต่อพ.ร.บ. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และเป็นการเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญาในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ

TP14-3317-A **ปล่อยกู้พม่าหวังขายสินค้า
นอกจากนี้ยังมีคดี การอนุมัติให้รัฐบาลพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) 4 พันล้านบาท เพื่อนำมาซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ไทยคม ซึ่งในช่วงเวลานั้น บริษัทชินคอร์ป เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไทยคม 51.48% ของหุ้นทั้งหมด การดำเนินนโยบายดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทไทยคมที่นายทักษิณ และครอบครัว กับพวก มีผลประโยชน์ให้ได้รับงานจ้างในการพัฒนาระบบโทรคมนาคมจากรัฐบาลพม่า ด้วยการให้สินเชื่อดังกล่าว เป็นเหตุให้เอ็กซิม แบงก์และกระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย

และกรณีซื้อขายที่ดินรัชดาฯ ของอดีตนายกฯ ทักษิณ โดยคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ประมูลซื้อที่ดินริมถนนเทียม ร่วมมิตร ย่านถนนรัชดาภิเษกใกล้กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง โดยนายทักษิณ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ร่วมลงนามยินยอมให้คู่สมรสได้เข้าไปเป็นคู่สัญญากับ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ “นายกรัฐมนตรี” ส่งผลให้เป็นผู้สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อที่ดินโฉนดแปลงดังกล่าว อันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มีโทษผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้จำคุกนายทักษิณ เป็นเวลา 2 ปี

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 **แก้สัญญามือถือเอื้อชินคอร์ป
ที่ฮือฮามากที่สุด คือ ขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ นายทักษิณ ได้ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) และบริษัทในเครือ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันหลายกรณี อาทิ ออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต ทั้งยังได้แก้ไขสัญญาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์มือถือแบบจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับบริษัท เอไอเอสฯ ซึ่งกรณีนี้นับว่าน่าสนใจไม่น้อย โดยเมื่อปี 2542 บริษัท เอไอเอสฯ ได้เริ่มให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ี แบบจ่ายเงินล่วงหน้า ในชื่อ วันทูคอล โดยคณะกรรมการบริหารงาน (กบง.) กำหนดให้จ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ ทศท.ตามข้อกำหนดในสัญญาอัตรา 25% ในเวลานั้นและในอัตรา 30% ในปีสัมปทานที่ 16 (ตุลาคม 2548-กันยายน 2549)

บริษัท เอไอเอสฯ ยื่นขอต่อ ทศท.ให้ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ และมีการนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการ ทศท. จนนำไปสู่การลงนามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาหลักเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 โดยสาระของข้อตกลงต่อท้าย คือ บริษัทเอไอเอสฯ จ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับ ทศท.ในอัตรา 20% คงที่ตลอดอายุสัญญา

การทำข้อตกลงต่อท้ายดังกล่าวนั้น ไม่ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการประสานงานตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และไม่ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบแต่อย่างใด แม้ว่าการปรับลดอัตราส่วนแบ่งดังกล่าวไม่ได้ส่งผลให้บริษัทเอไอเอสฯ ลดค่าให้บริการให้แก่ประชาชน ไม่ได้ทำให้ผู้ใช้บริการมากขึ้นซึ่งจะทำให้ ทศท.มีรายได้มากขึ้น ตรงกันข้าม บริษัทเอไอเอสฯ สามารถทำกำไรได้มากขึ้นเนื่องจากค่าสัมปทานลดลงและถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วกว่าคู่แข่ง และจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้มากกว่าคู่แข่ง ทำให้หุ้นของบริษัทเอไอเอสฯ มีราคาสูงขึ้นและเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุน การปรับลดส่วนแบ่งรายได้จากการแก้ไขสัญญาทำให้ ทศท.สูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับไป 14,213 ล้านบาท และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอีก 56,658 ล้านบาท ทศท.สูญเสียรายได้รวมทั้งสิ้นรวม 70,872 ล้านบาท

บาร์ไลน์ฐาน นายทักษิณ มีส่วนเกี่ยว ข้องและได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าว เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกฯ ในขณะนั้น มีอำนาจหน้าที่บังคับหรือกำกับดูแล ทศท. และเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอไอเอส ที่มีบริษัทชินคอร์ป ถือหุ้นอยู่ 42.90% ซึ่งนายทักษิณยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ทำให้ผลประโยชน์ได้แก่ตนด้วย

ทั้งยังได้แก้ไขสัญญาอนุญาตให้บริษัทเอไอเอสใช้เครือข่ายร่วมและให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ รวมทั้งปรับอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วมระหว่าง กสท.กับบริษัท ดีพีซี ตามสัญญาการให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูลาร์ ซึ่งสัญญานี้มีอายุ 17 ปี บริษัทดีพีซี ต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนขั้นตํ่าหรือในอัตราร้อยละ โดยถือเอาจำนวนเงินที่มากกว่า ซึ่งในเดือนธันวาคม 2544 บริษัทเอไอเอส เข้าถือหุ้นในบริษัท ดีพีซี เกินกว่า 90%ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และ 90% ของผู้บริหารของบริษัท ดีพีซี เป็นผู้บริหารที่มาจากบริษัทเอไอเอส ถือได้ว่า บริษัททั้งสองเป็นบริษัทเดียวกันก็ว่าได้ และวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545กสท.อนุมัติให้บริษัท ดีพีซี ใช้โครงข่ายร่วมกับบริษัทเอไอเอส โดยกสท.คิดผลตอบแทนรายได้ในอัตรานาทีละ 2.10 บาท ซึ่งต่อมาบริษัท ดีพีซี ได้มีหนังสือถึง กสท.ขอปรับลดอัตราเหลือนาทีละ 1.10 บาท และในวันที่ 28 มิถุนายน 2549 กสท.อนุมัติปรับลดเหลืออัตรา 1-1.10 บาทต่อนาที ก่อให้เกิดความเสียหายต่อ กสท. เป็นเงินประมาณ 700
ล้านบาท

การจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตและการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายไม่ได้ดำเนินการถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 แต่อย่างใด เรื่องนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงการอนุมัติดาวเทียมไอพีสตาร์อันเป็นการให้แก้ไขข้อกำหนดทางเทคนิคของดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 คือ ดาวเทียมไทยคม 4 ซึ่งเป็นดาวเทียมไอพีสตาร์เพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศเป็นหลัก อันอยู่นอกกรอบแห่งสัญญาสัมปทาน ตลอดจนถึงการแก้ไขสัญญาสัมปทานลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นในบริษัทไทยคมอีกด้วย

น่าสนใจว่าเมื่อไหร่ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” จะหมดไปจาก ประเทศไทยเสียที แม้จะมีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ และหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันออกมารณรงค์ป้องกันในเรื่องนี้ก็ตาม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,317 วันที่ 26 - 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว