‘ย.ยักษ์’ ตามใจสั่ง! สร้างจุดขายอาหาร ... โกยรายได้หลักล้าน

30 พ.ย. 2560 | 08:40 น.
1539

สมาร์ทเอสเอ็มอี โดย ฐานเศรษฐกิจ | เมื่อโลกยุคใหม่ส่วนใหญ่เคลื่อนไหวด้วยการ ‘ชิม ช็อป แชะ แชร์’ กลยุทธ์ทางการตลาดจึงต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ผู้ประกอบการจึงต้องงัดแงะกลเม็ดเด็ดมาห้ำหั่นกัน ผู้ใดที่ทำให้ผู้บริโภคซึ่งถือว่าเป็นผู้เลือก ร้อง “ว้าว” ได้ ตั้งแต่แวบแรกที่เห็น ย่อมได้เปรียบ

วนิชชา พุฒิธีระโชติ และกลุ่มเพื่อนที่เป็นหุ้นส่วน คือ ผู้สร้างปรากฏการณ์อาหารตามสั่ง ที่เรียกว่า เป็นการตามใจผู้บริโภคอย่างแท้จริง จนสามารถสร้างปรากฏการณ์การแชร์กระหน่ำกว่า 4,000 ครั้ง และมีผู้เข้าชมหลักหมื่นเพียงชั่วข้ามคืน ส่งให้ร้าน ‘ย.ยักษ์’ เป็นชื่อที่ติดตลาดอย่างรวดเร็ว ปัจจัยอะไรที่ส่งร้านอาหารตามสั่งขึ้นชาร์ตฮอตฮิต ปังโดนใจผู้บริโภค ... “ฐานเศรษฐกิจ” มีคำตอบ

 

[caption id="attachment_235181" align="aligncenter" width="503"] วนิชชา พุฒิธีระโช วนิชชา พุฒิธีระโช[/caption]

| ตามสั่ง ตามใจ ลูกค้า |
‘วนิชชา’ ในฐานะเจ้าของร้านและผู้ร่วมก่อตั้ง เล่าถึงไอเดียและแนวคิดในการทำร้าน ‘ย.ยักษ์’ ให้ “ฐานเศรษฐกิจ” ฟังว่า ร้านนี้เกิดขึ้นมาจากความต้องการตอบโจทย์ของตนเองและกลุ่มเพื่อนที่ต้องการทำร้านเกี่ยวกับอาหาร โดยช่วงนั้นกระแสของการทำอาหารไซส์ใหญ่กำลังมา แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารญี่ปุ่น หรือในรูปแบบที่คนไทยคุ้นเคย ก็จะเป็นพวกบะหมี่หรือข้าวมันไก่จานใหญ่ ซึ่งมองว่า ตอบโจทย์ แต่ยังไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะหากไปดูประเทศต้นแบบ อย่าง ‘ญี่ปุ่น’ ที่จริง จะพบว่า อาหารไซส์ใหญ่จะมีหลากหลายประเภทมากกว่าที่เราเห็น แต่ทำไมประเทศไทยไม่มี

ทั้งนี้ เมื่อตีโจทย์ได้ค่อนข้างชัดเจนแล้ว ก็เริ่มเจาะลึกลงไปว่า จะทำอย่างไรให้อาหารไทยถูกใจผู้บริโภค เพราะการทำอาหารไซส์ใหญ่ที่มีปริมาณมาก หรือที่ร้านเรียกว่า ‘ไซส์ยักษ์’ นั้น ผู้บริโภคจะต้องชื่นชอบด้วย ดังนั้น ความคิดจึงตกผลึกลงไปที่การเป็นร้านอาหารตามสั่ง แต่ต้องไม่ใช่รูปแบบธรรมดาทั่วไป โดยลูกค้าจะมีส่วนร่วมในการออกแบบอาหารอย่างที่ตนเองต้องการ ตั้งแต่การเลือกชนิดของอาหาร ว่าจะเป็นข้าวหรือเส้น หลังจากนั้นก็มาเลือกซอสผัส ซึ่งทางร้านจะมีให้เลือก 17 ชนิด ก่อนที่จะระบุว่า ใส่เนื้อสัตว์ประเภทใด เพิ่มผักอะไรหรือไม่ รสชาติเผ็ดแค่ไหน และมีเครื่องเคียงประเภทไข่รูปแบบใด ทุกอย่างตามใจลูกค้า

“เรามีกรอบความคิดที่ชัดเจนในการนำพาร้าน ‘ย.ยักษ์’ ไปสู่เป้าหมายการเป็นร้านอาหารตามสั่งในยุคถัดไป โดยเรากำหนดให้ลูกค้าได้เลือก 5 ขั้นตอน ซึ่งเราลงความเห็นแล้วว่า เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับลูกค้าในการออกแบบอาหารจานยักษ์ที่ต้องการ ซึ่งเมื่อนำวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ลูกค้าเลือกมาผสมผสานกัน ก็จะทำให้ลูกค้าได้อาหารที่ไม่สามารถหารับประทานที่ไหนได้นอกจากที่ร้าน เช่น ข้าวผัดสุกี้ หรือ สปาเกตตี้ใส่พริก เป็นต้น”


T13-3317-2A



| ยอดแชร์ถล่มข้ามคืน |
สำหรับกลยุทธ์ในการทำตลาดนั้น แน่นอนว่า ‘วนิชชา’ เน้นไปที่ช่องทางออนไลน์เป็นหลัก โดยเลือกที่จะให้บริการไว-ไฟฟรี แม้ว่าที่ร้านจะเป็นเพียงแค่อาหารตามสั่ง ซึ่งมุ่งหวังให้ลูกค้าได้เช็กอิน (Check in) และแชร์ร้านออกไปให้ได้มากที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นใช่ว่าทุกอย่างจะเป็นไปอย่างที่คิด เพราะการเช็กอินและการแชร์ของลูกค้ามีไม่มาก แต่ร้าน ย.ยักษ์ กลายเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคได้จากการที่มีบล็อกเกอร์เข้ามาใช้บริการและลงรูปแนะนำร้านและแชร์ จนมียอดผู้เข้าชมจำนวนมาก กลายเป็นกระแสได้ในเวลาอันรวดเร็ว

จุดเด่นที่ทำให้ร้าน ย.ยักษ์ ได้รับความนิยมอยู่ที่การเสิร์ฟอาหารแบบไซส์ยักษ์ รวมถึงอาหารที่ตามใจลูกค้าอย่างแท้จริง หากลูกค้าไม่ระบุ เราก็จะทำแบบอาหารไทยพื้นฐานเลย เช่น สั่งกะเพรา ก็จะมีแต่ใบกะเพรากับเนื้อสัตว์ที่ลูกค้าเลือกเท่านั้น และที่สำคัญ ที่ร้านจะไม่ใส่ผงชูรสทุกเมนู”

ส่วนการขยายตลาดเพื่อเพิ่มฐานลูกค้าของร้านนั้น ได้มีการดำเนินการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ให้บริการดีลิเวอรีผ่านแอพพลิเคชันแบรนด์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ไลน์แมน (LINE MAN) และอูเบอร์อีส (UberEATS) เป็นต้น เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในวัยทำงาน ซึ่งสามารถรับต้นทุนค่าส่งสินค้าได้ จากเดิมที่กลุ่มเป้าหมายของร้านจะเป็นกลุ่มนักศึกษา เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ตลาดสามย่าน นอกจากนี้ ยังเตรียมเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ที่พักอาศัยในคอนโดมิเนียมอีกด้วย


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

| ตำนานตลาดสามย่าน |
วนิชชา บอกว่า จากกลยุทธ์การทำตลาดดังกล่าว เชื่อว่า จะทำให้สามารถรักษาระดับรายได้ของร้านให้อยู่ในหลักล้านบาทต่อปีได้ในปี 2561 อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่แท้จริงของร้าน ย.ยักษ์ คือ การเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนคู่กับตลาดสามย่านและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกลายเป็นตำนาน โดยเราเริ่มด้วยการสนับสนุนชมรมฟุตบอลของคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มแรกที่มากันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ มาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งปณิธานว่า ตราบใดที่ร้านยังอยู่ จะสนับสนุนต่อไป


บาร์ไลน์ฐาน

“เราต้องการสร้างตำนานให้เป็นเสมือนสถานที่ที่รุ่นพี่พารุ่นน้องมารับประทาน หลังจากรุ่นหนึ่งก็จะสืบทอดต่อไปอีกรุ่นหนึ่งเรื่อย ๆ โดยเมื่อเวลาผ่านไป 5-10 ปี ก็จะเกิดอาการที่เรียกว่า มาสามย่านต้องไปร้าน ย.ยักษ์ อีกทั้งมองว่า ด้วยความซับซ้อนของสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา การขยายร้านไปยังทำเลอื่นอาจจะไม่ค่อยคุ้ม เพราะต้นทุนในการบริหารค่อนข้างเยอะมาก ดังนั้น จึงตั้งใจให้มีแค่สาขาเดียว หรือหากขยายธุรกิจจริง ก็จะไปแนวอื่นที่ไม่ใช่ ย.ยักษ์ หากลูกค้าต้องการมาใช้บริการร้าน ย.ยักษ์ ดั้งเดิม ต้องมาที่ตลาดสามย่านเท่านั้น

| เป้าชัด! นำพาสู่ความสำเร็จ |
‘วนิชชา’ ยังได้กล่าวถึงกุญแจที่ไขประตูให้เธอไปสู่ความสำเร็จ ที่เธอถ่อมตัวว่า ยังไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยว่า มาจากการต้องการพิสูจน์ทฤษฎีที่คิดขึ้นมาว่า จะสามารถทำได้หรือไม่ โดยตนเชื่อว่า ร้าน ย.ยักษ์ มีจุดเด่นของการประสบความสำเร็จทุกด้าน แต่ทุกอย่างจะต้องขึ้นอยู่กับลูกค้าว่า จะถูกใจหรือไม่ ทุกอย่างลูกค้ามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ โดยสิ่งที่ทุกคนที่มีส่วนร่วมกับร้านนี้ทำอยู่เสมอ คือ ความตั้งใจทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าด้วยใจ และการจะทำอะไรก็ตาม จะต้องทำให้สุดทาง โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามแผนที่วางเอาไว้ ซึ่งระหว่างทางอาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่โดยภาพรวมแล้ว เรามีเป้าหมายที่ชัดเจน มีกรอบการทำงานที่จะต้องทำออกมาให้ได้ โดยเชื่อว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ช่วยยึดให้เราอยู่ในเส้นทางและนำพาเราไปสู่ความสำเร็จ


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,317 วันที่ 26-29 พ.ย. 2560 หน้า 13

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว