คอนซูเมอร์ฝ่ากำลังซื้อหด ‘นีลเส็น’แนะปรับทิศมุ่งตลาดพรีเมียม-สินค้านวัตกรรม

29 พ.ย. 2560 | 12:10 น.
ตลาดคอนซูเมอร์อาการหนัก รอบ 12 เดือน มูลค่าลดตํ่าลงต่อเนื่องขณะที่ 2 เดือนสุดท้ายยังประเมินได้ยาก นีลเส็น แนะหนทางสร้างยอดขาย เน้นเข้าตลาดพรีเมียม ขายสินค้านวัตกรรม จับตลาดนักท่องเที่ยว พร้อมออกสู่ตลาดต่างประเทศ

ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) หรือ FMCG ของประเทศไทย ในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ จะมีอัตราการเติบโต 5-8% ทุกปี และแม้ว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจะมีอัตราการเติบโตที่ลดลง แต่ยังคงเติบโต 3-4% แต่ช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา ตลาดได้หดตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อ หรือการที่ผู้บริโภคมีหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ส่งผลให้ตลาดเริ่มมีอัตราการเติบโตแบบติดลบอย่างชัดเจนในเดือนพฤศจิกายน 2559 โดยติดลบ 3.3% แต่ที่ติดลบมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมาคือเดือนพฤษภาคม 2560 ด้วยอัตราติดลบ 7.6% มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา แม้ว่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภครอบ 12 เดือนย้อนหลังจากเดือนตุลาคมปีนี้ จะมีมูลค่ากว่า 8.90 แสนล้านบาท แต่ก็ยังคงเป็นตัวเลขที่ลดลงจากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีมูลค่ากว่า 9.21 แสนล้านบาท

MP34-3317-A นางสาวสมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดอุปโภคบริโภคติดลบในอัตรา 7.6% นั้นถือว่าตํ่าสุดเท่าที่นีลเส็นได้ทำการจัดเก็บข้อมูลมา ซึ่งแนวโน้มการลดลงของภาพรวมตลาดมีมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพราะผู้บริโภคไม่มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มากขึ้นด้วย โดยมีอัตราหนี้ครัวเรือนกว่า 70-80% เงินที่จะเหลือเพื่อนำมาจับจ่ายใช้สอยจึงน้อยลง นอกจากนี้ ยังพบว่าโครงสร้างสังคมไทยคนที่อยู่ในชนชั้นกลางเริ่มหาย แต่จะถูกแบ่งเป็นคนรวยและคนจนอย่างชัดเจนมากขึ้น

สำหรับภาพรวมของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ยังคงติดลบ 2.5% โดยผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ ที่มียอดขายมากที่สุดใน 10 อันดับแรกมีอัตราการเติบโตที่ลดลง ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่ 1-5 อันดับแรก มีผลประกอบการลดลง 6.2% ซึ่งยอดขายของกลุ่มผู้ประกอบการนี้มีสัดส่วนมากถึง 36% ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ลำดับ 6-10 มีผลประกอบการลดลง 4.9%แม้ว่าภาพรวมของตลาดคอนซูเมอร์จะติดลบ แต่ยังพบว่ามีผู้ประกอบการที่ยังสามารถสร้างการเติบโตได้ ได้แก่ กลุ่มบริษัทผลประกอบการในลำดับที่ 31-100 ด้วยอัตราการเติบโต 1.3% และบริษัทลำดับที่ 100 ขึ้นไปสามารถสร้างการเติบโตได้ 2.4%

นางสาวสมวลี กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าว ที่เป็นองค์กรขนาดกลางและเล็ก ที่ยังสามารถสร้างการเติบโตได้เป็นเพราะความสามารถด้านการปรับตัวที่มีความยืดหยุ่นสูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่ การตอบสนองต่อตลาดได้เร็ว มีความรวดเร็วในด้านการทำตลาดและการบริหารจัดการสินค้า และการพัฒนาสินค้านวัตกรรม การโฟกัสตลาดได้โดยเฉพาะ ต่างจากองค์กรขนาดใหญ่ที่อาจจะไม่มีความยืดหยุ่น นอกจากนี้ บริษัทขนาดใหญ่ซึ่งมักเป็นบริษัทข้ามชาติ ก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจในระดับโลกด้วยเช่นกัน

บาร์ไลน์ฐาน อย่างไรก็ตามสำหรับแนวทางเพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคนั้น คือ การมุ่งไปสู่ตลาดพรีเมียมซึ่งที่ผ่านมาพบว่าสินค้ากลุ่มพรีเมียมมีอัตราการเติบโต3.1% ในช่องทางโมเดิร์นเทรด เพราะว่าที่ผ่านมากำลังซื้อของผู้บริโภคไม่ดี แต่กลุ่มผู้มีรายได้สูงยังคงจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง สินค้าหรูยังคงมียอดขายเติบโตที่ดี นอกจากนี้ การขยายตลาดไปยังกลุ่มสินค้าอีโค หรือสินค้าธรรมชาติ ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ตลาดจะให้การตอบรับ

นางสาวสมวลี กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มตลาดอุปโภคบริโภคในช่วง 2เดือนสุดท้ายอาจจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะเติบโตหรือไม่อย่างไร เพราะปัจจุบันตลาดที่เคยมีซีซันนัลก็อาจจะมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ หากตลาดในประเทศไทยยังไม่ฟื้นตัว แนะนำให้ผู้ประกอบการขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ก็ยังเป็นช่องทางที่จะสามารถสร้างการเติบโตได้ แต่จะต้องศึกษาตลาดให้ดี โดยตลาดที่น่าสนใจ อาทิ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และจีน เป็นต้น รวมถึงการจับตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,317 วันที่ 26 - 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว