ธรรมศาสตร์เปิดตัว 33 สตาร์ทอัพหน้าใหม่

24 พ.ย. 2560 | 08:29 น.
มธ. ปักหมุดสู่“มหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ” และ “สตาร์ทอัพดิสทริก”  เปิดตัว 33 สตาร์ทอัพหน้าใหม่ พร้อมก้าวสู่เวทีระดับประเทศ

-24 พ.ย.60-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ตั้งเป้าเดินหน้าสู่ มหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ (Entrepreneurial University) และสตาร์ทอัพดิสทริก (Startup District) พร้อมเปิด “ธรรมศาสตร์ครีเอทีฟสเปซ” (TCS - Thammasat Creative Space) โคเวิร์คกิ้งสเปซครบวงจรด้วย 3 โซนเพื่อกำเนิดธุรกิจ ได้แก่ โซนพื้นที่ทำงาน เพื่อสร้างสรรค์และแลกเปลี่ยนแนวคิด โซนเมคเกอร์สเปซ เพื่อสร้างต้นแบบผลงาน และโซนอเนกประสงค์ เพื่อจัดกิจกรรมพร้อมดันสตาร์ทอัพหน้าใหม่ โดยจะพร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบภายในกลางปี 2561

ภาพบรรยากาศการมอบรางวัลสตาร์ทอัพหน้าใหม่ นอกจากนี้ยังได้จัด โครงการธรรมศาสตร์สตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีก (Thammasat Startup Thailand League) พร้อมโชว์ตัวอย่างผลงานนวัตกรรมสตาร์ทอัพเยาวชนรุ่นใหม่  33  ชิ้นครอบคลุมผลงานหลากหลายอุตสาหกรรมธุรกิจ จากนักศึกษาหลากหลายคณะของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาทิ “Foster” แอปพลิเคชั่นผู้ช่วยหาจุดฝากกระเป๋าสัมภาระในพื้นที่ท้องถิ่นสำหรับนักท่องเที่ยว, “Phoenix AgriDrone” โดรนตรวจเช็คสุขภาพพืชไร่ พืชสวน เพื่อการดูแลและเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดต้นทุน, และ “Happy Ending” ธุรกิจบริการเตรียมความพร้อมในการจัดงานศพ โดยทั้ง 33 ทีมนักศึกษาได้รับรางวัลเพื่อพัฒนาผลงานต้นแบบและเตรียมพร้อมเข้าร่วมประกวดในเวทีระดับประเทศ Startup Thailand 2017 ต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการปรับตัวถึงบทบาทของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตั้งเป้าทำหน้าที่ ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างและนำองค์ความรู้ นวัตกรรม และผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงวิชาการและการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เอื้อต่อการสร้างให้เกิดสตาร์ทอัพ และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จึงทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ปักหมุดสู่การเป็น มหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ (Entrepreneurial University) และสตาร์ทอัพดิสทริก (Startup District) เน้นการสร้างทักษะผู้ประกอบการแก่นักศึกษา (Entrepreneurial Skils) สร้างระบบนิเวศน์สตาร์ทอัพ (Startup Ecosystems) ถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) และบ่มเพาะ (Incubator) พัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและวิสาหกิจเริ่มต้นแก่นักศึกษา คณาจารย์ ศิษย์เก่า และผู้ประกอบการ ตลอดจนนักลงทุนที่สนใจ

[caption id="attachment_234921" align="aligncenter" width="503"] การใช้งานห้อง-Maker-Space การใช้งานห้อง-Maker-Space[/caption]

ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ ได้จัดตั้งพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Co-Working Space) ในชื่อ “TCS – Thammasat Creative Space” ณ บริเวณชั้น 1 หอสมุดป๋วย อึ้งภากรณ์ ด้วยพื้นที่ใช้สอย 1,500 ตารางเมตร พร้อมด้วยงานระบบและครุภัณฑ์ประกอบอาคาร สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานในการปฏิบัติงาน รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 6 ล้านบาท โดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 โซนหลัก ได้แก่ 1) โซนพื้นที่ทำงาน อำนวยความสะดวกด้วยพื้นที่ทำงานขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดบรรยากาศของการสร้างสรรค์ และพบปะ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้ใช้งาน 2) โซนเมคเกอร์สเปซ (Maker Space) พื้นที่สำหรับการสร้างต้นแบบผลงาน ที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอย่างครบครัน อาทิ เครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printer) เครื่องตัดเลเซอร์ (Laser Cut) ฯลฯ 3) โซนอเนกประสงค์ พื้นที่กว้างที่ถูกออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนได้โดยง่ายเพื่อให้เหมาะสมกับการจัดกิจกรรมได้อย่างยืดหยุ่นและหลากหลาย เช่น การนำเสนอผลงานหรือไอเดีย, การเล่าเรื่องราวของผู้ที่ประสบความสำเร็จเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ (TED Talk), การประกวดแผนธุรกิจ (Pitching), การจัดอบรม เวิร์คช็อปต่างๆ เพื่อจุดประกายความรู้ ฯลฯ ทั้งนี้ พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังกล่าว จะพร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบประมาณกลางปี 2561

ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินโครงการประกวดแข่งขันไอเดียธุรกิจสตาร์ทอัพระดับประเทศ (Startup Thailand League) เพื่อให้ความรู้และสร้างความพร้อมให้แก่นักศึกษา คณาจารย์และนักวิจัยในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ เพื่อพัฒนาสู่ธุรกิจเข้าประกวดแข่งขันในงานระดับภูมิภาค และระดับประเทศต่อไป โดยล่าสุดได้ทำการคัดเลือกผลงานทีมนักศึกษาที่ผ่านเกณฑ์จำนวนทั้งสิ้น 33 ทีม ครอบคลุมผลงานหลากหลายอุตสาหกรรมธุรกิจ จากนักศึกษาหลากหลายคณะของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาทิ ผลงาน “Foster” แอปพลิเคชั่นผู้ช่วยหาจุดฝากกระเป๋าสัมภาระในพื้นที่ท้องถิ่นสำหรับนักท่องเที่ยว, ผลงาน “Phoenix AgriDrone” โดรนตรวจเช็คสุขภาพพืชไร่ พืชสวน เพื่อการดูแลและเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดต้นทุน, และผลงาน “Happy Ending” ธุรกิจบริการเตรียมความพร้อมในการจัดงานศพ โดยแต่ละทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับเงินรางวัลทีมละ 100,000 บาทในการพัฒนาชิ้นงานต้นแบบ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การประกวดในเวทีระดับประเทศ Startup Thailand 2017 ต่อไป

ด้าน นายชินโชติ เถรปัญญาภรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. เจ้าของผลงาน “Foster” แอปฯหาจุด Drop กระเป๋าแบบทันใจ กล่าวว่า สำหรับแอปพลิเคชั่นดังกล่าว มีแนวคิดมาจากปัญหาเรื่องการดูแลสัมภาระของนักท่องเที่ยวอิสระ (Backpacker) ที่ต้องพกติดตัวจำนวนมาก และเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมตลอดการเดินทาง โดยแอปฯ จะทำหน้าที่เป็นแพลทฟอร์มกลางในการช่วยค้นหาร้านค้าพาร์ทเนอร์ที่รับฝากสัมภาระ ในจุดที่นักท่องเที่ยวต้องการเดินทาง พร้อมแสดงรายละเอียดร้านค้า และจำนวนสัมภาระที่ฝากได้ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะสูญหาย เนื่องจากทางร้านค้าจะต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตน ขณะที่ทีม Foster จะเป็นผู้รับประกันสัมภาระ ทั้งนี้ ตลอดการเข้าร่วมโครงการธรรมศาสตร์สตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีก เป็นระยะเวลา 3 เดือน ได้รับความรู้ด้านการตลาดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาฟังก์ชันของแอปฯ ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายในด้านต่างๆ อาทิ ข้อกำหนดทางด้านความแตกต่างของสกุลเงิน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ทางทีมผู้พัฒนามีความมุ่งหวังว่าหากแอปฯ Foster ได้รับการพัฒนาและใช้งานจริง จะสามารถช่วยกระจายรายได้ไปยังร้านค้าที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มอบรางวัลให้กับกลุ่มนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกพิจารณารวมทั้งสิ้น 33 ทีม เพื่อนำไปพัฒนาชิ้นงานต้นแบบและต่อยอดเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อเข้าร่วมในงาน Startup Thailand 2017 กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ธรรมศาสตร์ครีเอทีฟสเปซ (Thammasat Creative Space) ชั้น 1 หอสมุดป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6