ผู้ถือหน่วย DIF อนุมัติซื้อสินทรัพย์ทรู มูลค่า 7 หมื่นล.

24 พ.ย. 2560 | 03:47 น.
DIF เผยที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุนอนุมัติให้กองทุนเข้าซื้อสินทรัพย์จากทรู มูลค่ารวม 70,898 ล้านบาท ขอกู้แบงก์ 14,898 ล้านบาท ส่วน 43,000 ล้านบาท เพิ่มทุนขายผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมและผู้ลงทุนรายใหม่

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด ในฐานะบริษัทจัดการของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) แจ้งว่า ที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2560 มีมติอนุมัติการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 และทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ได้แก่เสาโทรคมนาคม ใย้แก้วน้ำแสงและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการเข้าทำธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องตามที่เสนอทุกประการ ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 2,115,871,647
หน่วย จากจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของผู้ถือหน่วยลงทุนที่เข้าร่วมประชุมและมีสิทธิออกเสียงจำนวน 2,263,702,047 หน่วย หรือคิดเป็น 93.4695% ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของผู้ถือหน่วยลงทุนที่เข้าร่วมประชุมและมีสิทธิออกเสียง

กองทุนฯ จะเข้าลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ในราคารวมทั้งสิ้นเท่ากับ 12,898 ล้านบาท เมื่อเทียบราคาประเมินจากผู้ประเมินอิสระ ณ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2560 บริษัท ดิสคัฟเวอร์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ได้ทำการประเมินค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 โดยวิธีรายได้ (Income Approach) ซึ่งได้แก่ วิธีมูลค่าปัจจุบันสุทธิของกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow: DCF) ได้ช่วงราคาประเมินเท่ากับ 11,995.04 ล้านบาท ถึง 12,975.83 ล้านบาท และบริษัท สีลม แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ได้ทำการประเมินค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 โดยวิธีรายได้ ซึ่งได้แก่ วิธีมูลค่าปัจจุบันสุทธิของกระแสเงินสด ได้ช่วงราคาประเมินเท่ากับ 12,144.90 ล้านบาท ถึง 13,173.57 ล้านบาท โดยในเบื้องต้นคาดว่ากองทุนฯ จะเข้าลงทุนแล้วเสร็จภายในปี 2560

สำหรับแหล่งเงินทุนที่กองทุนฯ จะนำมาใช้ลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 นี้ จะมาจากการกู้ยืมเงินทั้งจำนวน 12,898 ล้านบาท จากกลุ่มธนาคาร และ/หรือสถาบันการเงิน เบื้องต้นประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ และหรือ ธนาคารกรุงไทย และหรือธนาคารไทยพาณิชย์ โดยการกู้ยืมเงินครั้งนี้ จะไม่ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของกองทุนฯ เกินกว่า 3 เท่า สอดคล้องกับนโยบายการกู้ยืมเงินที่ระบุไว้ในรายละเอียดโครงการจัดการกองทุนฯ และความรับผิดของกองทุนฯ ตามสัญญาสินเชื่อระหว่างกองทุนฯ และกลุ่มผู้ให้สินเชื่อจะไม่เกินกว่ามูลค่าทรัพย์สินของกองทุนฯ

ส่วนการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 มูลค่ารวมไม่เกิน 58,000 ล้านบาท เมื่อเทียบราคาประเมินจาก บริษัท ดิสคัฟเวอร์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ณ วันที่ 19 กันยายน 2560 ได้ช่วงราคาประเมินเท่ากับ 54,141.65 ล้านบาท ถึง 58,906.93 ล้านบาท และ ณ วันที่ 19 กันยายน 2560 บริษัท สีลม แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัดได้ช่วงราคาประเมินเท่ากับ 54,369.99 ล้านบาท ถึง 59,014.79 ล้าน

แบนเนอร์วิทยุฐานเศรษฐกิจ ในส่วนของแหล่งเงินทุนสำหรับการเข้าลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 นี้ ส่วนหนึ่งจะมาจากการกู้ยืมเงินจากกลุ่มธนาคาร และ/หรือสถาบันการเงินและอีกส่วนหนึ่งจะมาจากการเพิ่มทุนและเสนอขายหน่วยลงทุนที่ออกใหม่ของกองทุนฯ โดยบริษัทจัดการจะดำเนินการกู้ยืมเงินในนามกองทุนฯ จำนวนไม่เกิน 2,000 ล้านบาท จากกลุ่มธนาคาร และ/หรือสถาบันการเงิน และดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนของกองทุนฯ ในจำนวนรวมไม่เกิน 43,000 ล้านบาท จากเดิมทุนจดทะเบียน 58,080 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หน่วยละ 10 บาท รวมเป็นทุนจดทะเบียนจำนวนไม่เกิน 101,080 ล้านบาท

การออกและเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่ในจำนวนไม่เกิน 4,300 ล้านหน่วย ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีรายชื่อปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุน (Rights Offering) หรือเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปเฉพาะกลุ่มซึ่งเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนเดิม (PreferentialPublic Offering) และ/หรือ ให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) และ/หรือ ต่อประชาชนทั่วไป (Public Offering)

โดยจะแบ่งการจัดสรรดังกล่าวให้แก่ผู้จองซื้อพิเศษ และ/หรือ ให้แก่ผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง(Cornerstone Investor) และ/หรือ ให้แก่ผู้รับซื้อหลักทรัพย์เบื้องต้นในต่างประเทศ (Initial Purchaser) และ/หรือ ต่อนักลงทุนประเภทอื่นใด ทั้งในประเทศ และ/หรือ ต่างประเทศ โดยอาจแบ่งการจัดสรรหน่วยลงทุนใหม่ดังกล่าวให้แก่นักลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งได้แก่ทรูด้วย ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว