ทส.รุดคุมสวนยางนายทุนรุกป่าก่อนเก็บข้อมูลนำมาจัดที่ดินให้ผู้ยากไร้ทำกิน

23 พ.ย. 2560 | 09:43 น.
ทส.ควบคุมสวนยางของกลุ่มนายทุนที่ผิดกฎหมาย พร้อมประสานการยางแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแก้ไขปัญหาราษฎรผู้ยากไร้ที่ทำสวนยางในพื้นที่ป่า

23 พฤศจิกายน 2560 – กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) แถลงข่าวกรณีการควบคุมน้ำยางที่มาจากสวนยางพาราของกลุ่มนายทุนบุกรุกป่า หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และหน่วยงานด้านความมั่นคง ร่วมมือกับผู้นำท้องถิ่นช่วยตรวจตราร่วมกับ  เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควบคุมไม่ให้มีการกรีดยางพาราในพื้นที่สวนยางของนายทุนที่ผิดกฎหมาย

จากการตรวจสอบข้อมูลพื้นที่สวนยางพาราทั้งประเทศพบว่า มีจำนวนประมาณ 30 ล้านไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ป่าไม้ 8.5 ล้านไร่ โดยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติประมาณ 5.2 ล้านไร่ คาดว่าเป็นของนายทุนประมาณ 1.2 ล้านไร่ และอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ 1.04 ล้านไร่ คาดว่าเป็นของนายทุนประมาณ 1.2 แสนไร่ รวมพื้นที่ของนายทุนทั้งหมด 1.32 ล้านไร่ นอกจากนี้ ยังมีสวนยางพาราที่อยู่ในพื้นที่ป่าไม้ 2484 และอื่นๆอีกจำนวน 2 ล้านไร่ ส่งผลกระทบต่อความสมดุลทางธรรมชาติและระบบนิเวศโดยรวมของประเทศ ก่อให้เกิดปัญหาด้านต่าง ๆ มากมาย เช่น ปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย ดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก

torsaw

อีกทั้งในขณะนี้ปัญหาราคายางพาราลดลงอย่างมาก อันเนื่องมาจากมีปริมาณน้ำยางพาราเข้าสู่ระบบมากเกินไป สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ ดังนั้นรัฐบาลมีนโยบายเร่งดำเนินการแก้ปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อปลูกยางพารา และลดปริมาณน้ำยางพาราจากพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก ทั้งในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อนำมาฟื้นฟูให้กลับเป็นป่าที่มีสภาพสมบูรณ์ดังเดิม โดยเน้นดำเนินการกับกลุ่มนายทุน เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนในการควบคุมจำกัดปริมาณน้ำยางในที่ปลูกในพื้นที่ป่าที่จะเข้าสู่ระบบจำนวน 300,000 ตัน/ปี ควบคู่กับการแก้ไขปัญหากลุ่มราษฎรผู้ยากไร้ ซึ่งได้มีแนวทางในการดำเนินการ โดยการประสานงานกับการยางแห่งประเทศไทย สำรวจการถือครอบครองเพื่อให้ได้ข้อมูลในการนำไปจัดที่ดินทำกิน ตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)

โดยก่อนหน้านี้ การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ได้ประสานความร่วมมือ ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคุมผลผลิตยางพาราในเขตป่าไม้ ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) เข้มงวดในการตรวจสอบสวนยางพาราของนายทุนที่ผิดกฎหมาย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากพบข้อมูลว่า กลุ่มทุนที่ถูกดำเนินคดีมีความพยายามเข้ามาหาผลประโยชน์จากสวนยางที่ผิดกฎหมาย โดยใช้วิธีการจ้างคนงานต่างพื้นที่เข้ามากรีดน้ำยาง ขณะเดียวกันศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่าได้ประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 1-4 และศูนย์การประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เฝ้าตรวจตราไม่ให้มีการเข้าไปกรีดยางในสวนยางของนายทุนที่ถูกดำเนินคดี

สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาสวนยางพาราในพื้นที่ป่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดแนวทางออก เป็น 6 ข้อดังนี้
1. เร่งรัดดำเนินคดีสวนยางพารานายทุนที่อยู่ในพื้นที่ป่า 1.32 ล้านไร่ ซึ่งปัจจุบันดำเนินคดี ไปแล้ว 160,000 ไร่
2. ควบคุมพื้นที่ที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมดไม่ให้มีการกรีดน้ำยาง
3. ลดการกรีดยางในพื้นที่รับผิดชอบของ อ.อ.ป. จำนวน 86,000 ไร่ โดยในปี 2560 - 2561 จะดำเนินการลดพื้นที่ที่ปลูกยางพาราได้ 20,000 ไร่ ลดปริมาณน้ำยาง 1,500 ตัน/ปี และจะดำเนินการต่อเนื่องปีละ 5% จนกว่าจะสามารถลดพื้นที่ปลูกยางพาราได้ทั้งหมด

nlaw2

4. เร่งรัดการดำเนินการจัดที่ดินทำกินตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) สำหรับราษฎรผู้ยากไร้ที่ทำสวนยางพาราในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 3 , 4 , 5 พื้นที่ประมาณ 3.6 ล้านไร่
5. เร่งรัดดำเนินการ แก้ไขปัญหาราษฎรผู้ยากไร้ที่ทำสวนยางพาราในพื้นที่ป่าลุ่มน้ำชั้น 1 , 2 ในรูปแบบสิทธิทำกินแบบมีเงื่อนไข โดยการปลูกไม้ท้องถิ่นผสมผสานกับไม้ยางพารา
6. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย จะเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาราษฎรผู้ยากไร้ที่ทำสวนยางพารา ตามแนวทางในข้อ 4 และ ข้อ 5 ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกยท.

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว