นักเศรษฐศาสตร์เชียร์รัฐบาลจัดชุดใหญ่อุ้มฐานราก

25 พ.ย. 2560 | 09:24 น.
นักเศรษฐศาสตร์จี้รัฐเร่งช่วยกลุ่มฐานราก 80% เอสเอ็มอี 3 ล้านรายด่วน สร้างเกราะคุ้มกำลังซื้อระยะยาว ประคองเศรษฐกิจโตยั่งยืน ชำแหละจีดีพีไตรมาส 3 โตแรง 4.3% แต่กระจุกตัว เตือนส่งออกมีสิทธิเวียดนามแซง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2560 ขยายตัว 4.3% สูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส โดยได้รับแรงส่งจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปีขยายตัว 3.8% และสศช.ปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีปีนี้เป็น 3.9% จาก 3.5-4.0% และคาดว่าปีหน้าจีดีพีจะโต 3.6-4.6% ค่ากลางอยู่ที่ 4.1%

[caption id="attachment_50327" align="aligncenter" width="357"] เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชาว์ เก่งชน
กรรมการผู้จัดการ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย[/caption]

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การผลิตภาคเกษตรไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 9.9% ลดลง 4.7% จากไตรมาส 2 อยู่ที่ 16.1% สาเหตุหนึ่งเป็นผลที่เกิดอุทกภัยในภาคอีสาน ขณะเดียวกันราคาสินค้าเกษตรบางรายการยังลดลงจึงเป็นแรงกดดันรายได้ภาคเกษตรอีกทอดหนึ่ง

ขณะที่ในภาคการผลิตที่ขยายตัวดี แต่ยังไม่ส่งผ่านถึงตลาดแรงงานอย่างทั่วถึง เห็นได้จากจำนวนการจ้างงานทั้งภาพรวมและภาคการผลิตเดือนกันยายนที่ผ่านมายังคงลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เหล่านี้จะเป็นสัญญาณสะท้อนแรงกดดันการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนในระยะต่อไป

[caption id="attachment_176296" align="aligncenter" width="503"] นริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) นริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)[/caption]

++ต้องระเบิดจากภายใน
นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics กล่าวว่า ปัจจัยการส่งออกซึ่งเป็นการเติบโตจากภายนอกสนับสนุนจีดีพีในไตรมาส 3 ขยายตัว แต่ไทยส่งออกสินค้าเดิมๆ ไม่มีนวัตกรรมหรือสินค้ากลุ่มใหม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้อีก 3-4 ปี มูลค่าส่งออกของไทยจะถูกเวียดนามแซง

ขณะที่การลงทุนและการบริโภคในประเทศ ยังไม่สะท้อนการเติบโต จึงเป็นโจทย์ระยะสั้นที่รัฐต้องกระตุ้นการบริโภคภายในโดยสนับสนุนการบริโภคภูมิภาค ระยะกลางต้องใช้มาตรการให้ลงถึงซัพพลายเชน เพื่อประคองธุรกิจเอสเอ็มอี หรือร้านค้าโชวห่วยให้เกิดการลงทุน ก่อนที่จะแก้ปัญหาระยะยาว ด้วยการปรับปรุงระบบการศึกษาให้ตอบโจทย์วิชาชีพ เพราะปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่ยังขาดแรงงานมีฝีมือ

“ส่วนใหญ่ภาคธุรกิจยังบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าจีดีพีโต 4.3% แต่ยอดขายยังไม่โต โดยเฉพาะในภูมิภาค เมื่อรัฐบาลมาถูกทางแล้ว คือจีดีพีโตแล้ว รัฐควรดูแลเอสเอ็มอีในภูมิภาค มีมาตรการที่กระจายให้ลงถึงซัพพลายเชน กระตุ้นการบริโภคที่ยั่ง ยืนมาตรการช็อปช่วยชาติยังกระจุกที่ธุรกิจใหญ่ โมเดิร์นเทรด ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 20% และการบริโภคจะมาจากคนระดับกลางซึ่งมีกำลังซื้อและอยู่ในฐานภาษีอยู่แล้ว”

บาร์ไลน์ฐาน ++ฐานราก 80% ยังแย่
นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผลจากรัฐบาลอัดเม็ดเงินเต็มที่ เริ่มสะท้อนถึงจีดีพีที่เติบโต สิ่งที่ต้องระวังคือ เป็นการเพิ่มขึ้นแบบกระจุกอยู่ในกลุ่มคนกลุ่มเดียวที่มีกำลังซื้ออยู่แล้ว เช่น มาตรการช็อปช่วยชาติ แต่คนส่วนใหญ่อีก 80% ยังไม่ได้รับอานิสงส์หากกำลังซื้อกลุ่มนี้หายไปหรือภาคส่งออกชะลอจะทำอย่างไร

ดังนั้นการขยายตัวของจีดีพีที่ 4.1% ในปีหน้าต้องทำให้ถึงคนส่วนใหญ่อีก 80% ที่เหลือเพื่อกระจายกำลังซื้อและช่วยขับเคลื่อนจีดีพีไทยให้แกร่งได้ในระยะยาว

“ตอนนี้คนมีรายได้น้อยและกลุ่มเอสเอ็มอีประมาณ 3 ล้านราย ยังไม่ได้อานิสงส์จากจีดีพีขยับเพิ่มมีแต่ธุรกิจที่เชื่อมโยงการส่งออกที่ฟื้น ซึ่งปีหน้าถ้ามีเลือกตั้งยิ่งเศรษฐกิจดีก็จะเป็นการปลดล็อกในการส่งไม้ต่อให้ทีมใหม่เข้าบริหารประเทศซึ่งความเชื่อมั่นและเงินลงทุนจะกลับมา”

[caption id="attachment_118065" align="aligncenter" width="416"] จิติพล พฤกษาเมธานันท์ จิติพล พฤกษาเมธานันท์[/caption]

++เชียร์กระตุ้นปัจจัย4
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สิ่งที่ ต้องระวังคือกำลังซื้อภายในต้องอาศัยแรงกระตุ้น หากรัฐบาลต้องการป้องกันผลกระทบจากกรณีเศรษฐกิจของต่างประเทศชะลอหรือกลับทิศ สิ่งที่รัฐน่าจะทำต่อเนื่องคือ มาตรการกระตุ้นปัจจัย 4 รวมถึงสนับสนุนภาคธุรกิจหรือบริษัทขนาดใหญ่ช่วยฐานรากลงสู่ท้องถิ่น และให้คอร์ปอเรตมีส่วนร่วมในการสร้างงาน ที่สามารถหักหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แนวทางนี้ประเทศในยุโรปนำมาใช้แล้วประสบความสำเร็จ

ส่วนความต้องการสินเชื่อยังไม่เห็นสัญญาณชัดรวมถึงการลงทุน อย่างไรก็ตามแนวโน้มหากเศรษฐกิจไทยยังมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุน ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า ได้อีก 2-3% สิ้นปีหน้าคงเห็นเงินบาทแตะ 31.8 บาทต่อดอลลาร์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,316 วันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว