สิ้น‘จำนำข้าว’ 3 ปี 300 โรงสีม้วนเสื่อ

25 พ.ย. 2560 | 09:01 น.
3 ปีสิ้นจำนำข้าว โรงสีกระทบหนัก ปิดตัวแล้วกว่า 300 แห่ง เหตุไม่ปรับตัวแตกไลน์ธุรกิจ ขณะแข่งเดือดแย่งข้าวเปลือกหลังกำลังสีแปรรวมมากกว่าผลผลิต 4 เท่า แบงก์ทุบซํ้าทวงเงินกู้ ทำขาดสภาพคล่องหนัก

จากธุรกิจโรงสีที่เคยเฟื่องฟูในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มีการขยายธุรกิจเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวทำรายได้เข้ากระเป๋าอย่างเป็นกอบเป็นกำเวลาว่างเว้นมากว่า 3 ปีไม่มีโครงการรับจำนำข้าวแล้วเหตุการณ์ได้พลิกผันตรงกันข้าม

นายมนต์ชัย รุ่งชาญชัย ประธานกรรมการบริหาร สิงห์โตทองกรุ๊ป ผู้ดำเนินธุรกิจโรงสีข้าว ข้าวสารบรรจุถุง คลังเก็บสินค้า และส่งออกข้าว เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่รัฐบาลไม่มีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกแล้ว ประเมิน ณ เวลานี้ส่งผลให้โรงสีที่เคยเข้าร่วมโครงการรวมถึงโรงสีทั่วไปได้ปิดตัวไปแล้วประมาณ 30% หรือจากกว่า 1,000 โรง ได้ปิดตัวไปแล้วประมาณ 300 ราย เป็นผลจากหลายปัจจัยเช่น ไม่มีการแตกไลน์ธุรกิจรับการแข่งขันที่รุนแรง ธุรกิจขาดสภาพคล่องไม่มีเงินส่งแบงก์ ขณะที่แบงก์ไม่ปล่อยกู้ต่อสำหรับลูกค้าที่มีความเสี่ยงทางธุรกิจ และมีการเรียกเงินคืน ทำให้ธุรกิจไปต่อไม่ได้

“ธุรกิจโรงสีปิดตัวไปแล้วประมาณ 30% จากขาดสภาพคล่อง บางรายก็ไปต่อไม่เป็น หลังไม่มีโครงการรับจำนำข้าว ส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็มีการปรับตัวเช่น แตกไลน์ธุรกิจทำข้าวถุง ทำส่งออก เพื่อให้แบงก์เห็นว่าธุรกิจยังไปได้และให้การสนับสนุนทางการเงินต่อ แต่โรงสีที่ไปทำธุรกิจส่งออกข้าวก็มีความเสี่ยง เพราะส่วนใหญ่ไปขายตัดราคากันเอง เพื่อเอายอดมาโชว์แบงก์ เสี่ยงต่อการขาดทุนและเสี่ยงปิดตัวเพิ่มอีกในอนาคต ซึ่งธุรกิจโรงสีเวลานี้ไม่สดใสนักถาม 100 คน 70 คนจะตอบว่าอยากเลิกหรืออยากขายธุรกิจเพื่อไปทำอย่างอื่น”

[caption id="attachment_137884" align="aligncenter" width="336"] เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์[/caption]

สำหรับสิงห์โตทองกรุ๊ปล่าสุดได้ปรับตัวโดยลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท จัดตั้งศูนย์ซื้อขายสินค้าเกษตรครบวงจร ที่ จ.กำแพงเพชร เพื่อต่อยอดธุรกิจและเสริมรายได้ เบื้องต้นเน้นสินค้าเกษตร 3 รายการ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพด โดยเป็นตัวกลางนำผู้ซื้อ-ผู้ขายมาเจอกัน ทางกลุ่มได้รับผลตอบแทนในส่วนของค่านายหน้าหรือค่าดำเนินการ และยังมีรายได้จากการให้บริการปรับปรุงคุณภาพสินค้า ให้เช่าคลังเก็บสินค้าที่รองรับได้กว่า 1 ล้านตัน และให้บริการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ครบวงจร ใช้ระบบไอทีที่ทันสมัยในการให้บริการ

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าธุรกิจโรงสีปิดกิจการไปแล้วมากน้อยเพียงใด จากข้อมูลที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์มีประมาณ 1,200 โรง แต่ยอมรับว่ามีปิดกิจการแน่ ปัจจัย จากการแข่งขันทางธุรกิจมีสูง แบงก์มองเป็นธุรกิจเสี่ยงตัดวงเงินสินเชื่อ ทั้งนี้ช่วงโครงการรับจำนำโรงสีมีการลงทุนขยายกำลังผลิตกันจำนวนมาก ทำให้ ณ เวลานี้มีกำลังการสีแปรข้าวเปลือกรวมกันกว่า 120 ล้านตัน/ปี ขณะที่ผลผลิตข้าวเปลือกในประเทศมี 29-30 ล้านตัน/ปี หรือมีกำลังสีแปรมากกว่าผลผลิตถึง 4 เท่า การปรับตัวเวลานี้หลายรายได้แตกไลน์ธุรกิจไปผลิตข้าวสารบรรจุถุงจำหน่ายทั้งในแบรนด์ตัวเองและแบรนด์ลูกค้า การจัดตั้งบริษัทส่งออกข้าว และบางรายได้รุกสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าไบโอแมส(พลังงานความร้อนจากแกลบ)

“ธุรกิจโรงสียังไม่ถึงขั้นนำ IoT มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ค่อยๆ พัฒนาแตกไลน์ธุรกิจมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้แทนแรงงานคน มีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร มีการนำหุ่นยนต์ (แขนกล) มาใช้ในการจัดเรียงกองข้าวสารที่แพ็กบรรจุถุงซึ่งมี 1-2 รายที่นำมาใช้แล้ว ข้อแนะนำสำหรับโรงสีจากนี้ต้องหันมาดูแลลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเพื่อรองรับการแข่งขัน ระมัดระวังในการขายสินค้าดูว่าลูกค้ามีเครดิตที่ดี ขายแล้วเก็บเงินได้หรือไม่ ใช้ความสมเหตุสมผลในการซื้อ-ขาย เป็นทั้งนักอุตสาหกรรมและนักเก็งกำไรที่พอเหมาะ จึงจะอยู่รอดได้”

บาร์ไลน์ฐาน แหล่งข่าวจากวงการโรงสีเผยว่า การแตกไลน์จากธุรกิจโรงสีมาเป็นผู้ส่งออกข้าวแข่งกับผู้ส่งออกข้าวที่มีอยู่เดิมไม่ใช่เรื่องง่ายและวงการนี้มีหลายอย่างที่ต้องระวัง ตัวอย่างหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ผู้ส่งออกข้าวหลายรายถูกโบรกเกอร์ต่างประเทศที่ติดต่อซื้อข้าวไปแล้ว แต่ไม่จ่ายเงินทำเสียหาย 400-500 ล้านบาท ผู้ซื้อบางรายติดต่อผ่านทางราชการมาขอซื้อข้าวถึงเดือนละ 5 หมื่นตัน แต่ดูแล้วไม่น่าเชื่อถือ และบางรายเช่นจากแอฟริกา ติดต่อขอซื้อข้าวขอจ่ายค่าสินค้าเป็นทอง ซึ่งอาจเป็นทองปลอม กลยุทธ์โกงเหล่านี้ผู้ส่งออกต้องเพิ่มความระมัดระวัง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,316 วันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว