สึนามิ IoT ซัดธุรกิจดับ ‘บิ๊กดาต้า-โดรน-บล็อกเชน’เปลี่ยนประเทศ

25 พ.ย. 2560 | 08:58 น.
บิ๊กกสทช.ลั่นวงการโทรคมนาคม สู่ดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชัน ชี้ IoT สร้างเม็ดเงินกว่า 3.4 หมื่นล้าน เคลื่อนทัพไทยแลนด์ 4.0 “เศรษฐพงค์” ยํ้า “บิ๊กดาต้า-โดรน-บล็อกเชน” เชนจ์ชีวิต-ธุรกิจครั้งใหญ่

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจและสื่อในเครือสปริงนิวส์ กรุ๊ป ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดงานแสดงเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง หรือ Internet of Things ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เมื่อวันที่ 18-19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ BCCHALLเซ็นทรัล ลาดพร้าว

พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กล่าวในงาน Internet Of Things(IoT) ตอนหนึ่งว่า “IoT”จะยังประโยชน์ ไปยังผู้ร่วมงานและประเทศชาติ รวมถึงจะช่วยคลี่คลายข้อสงสัยให้กับทุกท่านเกี่ยวกับ IoT

P1-3316-ART2 ขณะที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวรายงานว่า นับจากนี้อีก 5 ปีข้างหน้าช่วงเวลาที่สำคัญของวงการโทรคมนาคมของไทย ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิตอล หรือ ดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อไปสู่นวัตกรรมไทยแลนด์ 4.0 หนึ่งในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องที่สำคัญคือ IoT ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เป็นรูปแบบใหม่ สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า โดยผ่านการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต

“มีการคาดการณ์ว่า การนำไอโอทีมาใช้งานจะช่วยสร้างเม็ดเงินได้กว่า 3.4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ยังช่วยสนับสนุนการสร้างอีโคซิสเต็ม ซึ่งได้จัดทำกฎระเบียบคลื่นความถี่ 920-925 MHz เพื่อรองรับการใช้งาน IoT แบบไม่มีใบอนุญาต (Unlicensed) เช่นเดียวกับคลื่นความถี่ 2.4 MHz เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในอนาคตของประเทศไทย”

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และในฐานะประธาน กทค. กล่าวว่า โลกกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 โดยเทคโนโลยีจะมีความหลากหลาย อาทิ บิ๊กดาต้า โดรน บล็อกเชน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบธุรกิจมากมาย ในการสร้างขีดความสามารถในรูปแบบใหม่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพื่อก้าวผ่านไปสู่อินดัสตรี 4.0 ซึ่งประเทศเยอรมนีได้ก้าวข้ามผ่านไปแล้วและประเทศอื่นๆ ที่กำลังจะตามมา

“การเปลี่ยนแปลงที่ตนได้กล่าวถึงในวันนี้ ยังไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง แต่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะเกิดในอีก 2 ปีข้างหน้า”

สำหรับบิ๊กดาต้า พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ยํ้าว่า เป็นเรื่องของการจัดการข้อมูล เพื่อให้เกิดความชาญฉลาดในการตัดสินใจ ต้องกำหนดเป้าหมายจากบิ๊กดาต้า มีการกำหนดกลุ่มที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งสร้างโมเดลในการวิเคราะห์ การประเมินคุณภาพเรื่องความถูกต้องมีคุณภาพดีทันสมัยเชื่อถือได้ ก่อนเข้าสู่โมเดลการวิเคราะห์

“ความสำคัญในการจัดการบิ๊กดาต้า คือ การรวบรวมข้อมูลจากหลากหลายแหล่งที่เกี่ยวข้อง ความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับผู้ดำเนินการที่รู้ว่าชุดข้อมูลไหนตรงกับเป้าหมายไหน”

บาร์ไลน์ฐาน ++5G เชื่อมทุกเทคโนฯ
อย่างไรก็ตาม การสื่อสารของระบบ Internet of Things หรือ IoT ระหว่างเครื่องจักรกับเครื่องจักร (M2M) และเครื่องจักรกับมนุษย์ (M2H) จะเชื่อมโยงทั้งเครื่องจักร กระบวนการผลิต และจอควบคุมของโรงงานแห่งอนาคต และเทคโนโลยี 5G จะเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิตอลที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุณภาพได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ในยุค 5G ที่มีความเร็วในการส่งข้อมูลสูงกว่า 4G ถึง 10 เท่าตัว จะทำให้หุ่นยนต์และมนุษย์ทำงานร่วมกันในโรงงาน ซึ่งในโรงงานจะทำหน้าที่เหมือนวงดนตรีที่เล่นเพลงเดียวกันอย่างไพเราะด้วยเครื่องดนตรีที่หลากหลาย มากกว่าจะเป็นเพียงกลุ่มของสายการผลิตที่มีเครื่องจักร มนุษย์ และหุ่นยนต์ที่ต่างก็มีบทบาทแตกต่างกัน แต่กลับมาทำงานร่วมกัน พื้นโรงงานจะเป็นแบบไดนามิก และปรับแต่งใหม่ได้ เพื่อให้เหมาะกับผลิตภัณฑ์ที่จะผลิตขึ้น

นอกจากนี้หุ่นยนต์จะเชื่อมต่อเข้ากับระบบคลาวด์ได้แบบเรียลไทม์ เพื่อความปลอดภัยและสั่งการ ซึ่ง 5G ไม่ได้สำคัญแค่เรื่องความเร็ว แต่จะมีการเพิ่มจำนวนเครือข่าย ที่สามารถเชื่อมต่อกันได้มากขึ้นและสามารถรองรับการใช้งานผ่านอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) ได้ถึงล้านล้านอุปกรณ์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน 5G

ทั้งนี้การวิเคราะห์และการคาดการณ์จากสำนักวิจัยหลายสำนักก็สามารถสรุปได้ว่า อุตสาหกรรมสื่อและโทรคมนาคมจะถูกพลิกโฉมอย่างที่ไม่เหลือรูปแบบเดิม ประมาณช่วงปี 2023-2025 (หลังจากการประกอบร่างของAI และ Big data สำเร็จ) ตามมาด้วยอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารและค้าปลีกในช่วงปี 2025 (หลังจากการประกอบร่าง ระหว่าง AI, Big data และ Blockchain สำเร็จ) ไปจนถึงอุตสาหกรรมพลังงานในปี 2030 (หลังจากการประกอบร่างระหว่าง AI, Big data, Blockchain และ Smart material สำเร็จ) ซึ่งหลังจากปี 2030 นั้นคือภาพจริงของการอพยพจาก อุตสาหกรรมเก่าเข้าสู่ยุค Industry 4.0 อย่างสมบูรณ์แบบ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,316 วันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว