ชงศาลฟัน! ‘ทักษิณ’ คดีทุจริต ‘ปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย-แก้ค่าสัมปทานมือถือ’

26 พ.ย. 2560 | 06:48 น.
1340

ก.ม.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ฉบับใหม่) พ่นพิษใส่ ‘ทักษิณ’ อัยการสูงสุดยื่น ‘ศาลฎีกานักการเมือง’ ฟื้น 2 คดี พิจารณาลับหลัง ทุจริต ‘ปล่อยกู้แบงก์กรุงไทยให้กลุ่มกฤษดามหานคร-แก้ค่าสัมปทานมือถือ’

กฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. ที่ผ่านมา ทางอัยการสูงสุด (อสส.) ได้มีคำสั่งที่ 1621/2560 แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดีที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และสำนวนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมี นายพรศักดิ์ ศรีณรงค์ รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงานชุดดังกล่าว

นายวันชาติ สันติกุญชร โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วย นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์, นายประยุทธ เพชรคุณ และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษก อสส. แถลงสรุปความคืบหน้าล่าสุด ว่า คณะทำงานได้ประชุมและดำเนินการตรวจสอบแล้ว มี 2 คดี ที่เกี่ยวข้องกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องดำเนินการ ซึ่งได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้แล้ว


วิทยุพลังงาน

“อัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้ว เห็นพ้องตามที่คณะกรรมการเสนอ และมอบอำนาจให้พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และพนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ ให้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว และมีคำสั่งให้ดำเนินการกระบวนการพิจารณาต่อไป โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ซึ่งพนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และพนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต ได้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ เรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ต้องรอว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะพิจารณาอย่างไร ซึ่งระหว่างนี้ นายทักษิณ จำเลยสามารถแต่งตั้งให้ทนายความแก้ต่างคดีได้ตลอด ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาคดีดังกล่าว” นายวันชาติ ระบุ


tp16-3316-a

สำหรับคดีหมายเลขดำที่ อม. 9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551 นายทักษิณถูกฟ้องเป็นจำเลย ข้อหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาฯ (ออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมและมือถือ เป็นภาษีสรรพสามิต) ซึ่งศาลได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้พิจารณา เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2551 และนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันที่ 5 ต.ค. 2551 ปรากฏว่า จำเลยได้รับหมายเรียกโดยชอบแล้วไม่มาศาล พฤติการณ์มีเหตุควรสงสัยว่า จำเลยจะหลบหนี จึงให้ออกหมายจับจำเลย และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว

อย่างไรก็ดี สำหรับคดีนี้นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี (หมอเลี้ยบ) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และนายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที ในสมัยรัฐบาลทักษิณ และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ และอดีตปลัดกระทรวงไอซีที ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1-3 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยศาลมีคำพิพากษาจำคุก น.พ.สุรพงษ์ อดีต รมว.ไอซีที เป็นเวลา 1 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยอีก 2 คน ให้จำคุก 1 ปี แต่โทษให้รอลงอาญาเป็นเวลา 5 ปี

และคดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2555 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 55/2558 ที่นายทักษิณกับพวก รวม 27 คน ตกเป็นจำเลย ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์ตนเองหรือผู้อื่น ร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือโดยมิชอบ (กล่าวหาร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยกับกลุ่มกฤษดามหานคร) ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำเลย รวม 26 ราย อาทิ ให้จำคุก ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ, นายวิโรจน์ นวลแข, นายมัฌชิมา กุญชร ณ อยุธยา คนละ 18 ปี และจำคุก นายพงศธร สิริโยธิน, นายโสมนัส ชุติมา, นายสุวิทย์ อุดมทรัพย์, นายวันชัย ธนิตติราภรณ์, นายบุญเลิศ ศรีเจริญ, นายประพันธ์พงศ์ ปราโมทย์กุล, นางกุลวดี สุวรรณวงศ์, นางสุวรัตน์ ธรรมรัตนพคุณ, นายประวิทย์ อดีตโต, นางศิริวรรณ ชินอิสระยศ, นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา, นายบัญชา ยินดี, นายวิชัย กฤษดาธานนท์, นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ และนายไมตรี เหลืองนิมิตมาศ คนละ 12 ปี


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ให้ปรับ บริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด, บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด, บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน), บริษัท โบนัสบอร์น จำกัด และบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมูนิเคชั่น จำกัด รายละ 26,000 บาท

นอกจากนี้ ให้ บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน), นายวิชัย กฤษดาธานนท์ และนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ ร่วมกันคืนเงิน 10,004.46 ล้านบาท แก่ธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย โดยให้ นายวิโรจน์, บริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์ฯ และนายไมตรี ร่วมรับผิด 9,554.46 ล้านบาท และให้ นายไพโรจน์, นายประพันธ์พงศ์ ปราโมทย์กุล, นางกุลวดี สุวรรณวงศ์, นางสุวรัตน์ ธรรมรัตนพคุณ, นายประวิทย์ อดีตโต, นางศิริวรรณ ชินอิสระยศ, นายสุบิน แสงสุวรรณเมฆา, นายบัญชา ยินดี และบริษัท โบนัสบอร์น จำกัด ร่วมรับผิด 8,818.73 ล้านบาท ส่วนบริษัท อาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด ร่วมรับผิด 450 ล้านบาท


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,316 วันที่ 23-25 พ.ย. 2560 หน้า 16

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว