ดิจิตอลเขมือบแบงก์ ‘อรพงศ์’ชี้ธปท.รื้อกฎเมื่อไหร่‘รอดยาก’

25 พ.ย. 2560 | 05:45 น.
นายอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการ บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (ดีวี)ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ และอดีตผู้บริหารระดับสูงไมโครซอฟท์ กล่าวตอนหนึ่งช่วงเสวนา IoT พลิกโฉมธุรกิจ ในงาน IoT : Internet of Things 2017 ที่จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจและสปริงกรุ๊ป” เมื่อวันที่ 18-19 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า โกดัก บริษัทฟิล์มยักษ์ใหญ่ของโลก คือผู้คิดค้นกล้องดิจิตอลเป็นรายแรก แต่ตัดสินใจไม่พัฒนาต่อ เพราะไม่อยากให้มากินธุรกิจดั้งเดิมของตัวเองในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้และปิดฉากธุรกิจฟิล์มที่ดำเนินมากว่า 120 ปีแบบไร้ทางสู้

[caption id="attachment_234297" align="aligncenter" width="335"] อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการ บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (ดีวี) อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการ บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (ดีวี)[/caption]

ธุรกิจธนาคารก็เช่นกันที่กำลังเผชิญภัยคุกคามครั้งใหญ่จากโลกดิจิตอล แม้ว่าธนาคารหลายแห่งพยายามจะปรับตัวเพื่อรับมือ แต่ในมุมมองของนายอรพงศ์บอกว่ายังไม่เพียงพอ การขับเคลื่อนยังช้าเมื่อเทียบกับดิจิตอลที่พัฒนาการได้รวดเร็ว

“แบงก์ใหญ่จะ Transform ให้ทัน Digitalไม่มีทางเพราะขนาดที่ใหญ่ทำให้เคลื่อนตัวได้ช้า”

ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์อาจจะคิดว่ายังมีเวลาในการปรับตัว ด้วยเหตุผลว่าสถาบันการเงินยังเป็นเซ็กเตอร์ที่ยังโดนการควบคุมโดยกฎระเบียบจากผู้กำกับดูแล (Regulator)ทำให้เทคโนโลยีอาจจะยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่สถาบันการเงินได้ทันที

แต่เมื่อใดที่กฎกติกาเปลี่ยนแปลง เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีมีความปลอดภัยมากขึ้น เช่น เทคโนโลยีการบันทึกข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Block chains) และหากวันหนึ่งผู้กำกับดูแลเห็นว่าบล็อกเชนสามารถตรวจสอบได้ และมีความถูกต้องแม่นยำไม่ก่อให้เกิดความเสียหายและผู้กำกับดูแลเห็นว่าการพึ่งพาธนาคารพาณิชย์ลดลง จะทำให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทแทนธนาคารหรือสถาบันการเงินอย่างชัดเจน แม้ว่าจะไม่สามารถบอกเวลาได้แน่นอน แต่เชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ภายในเร็วๆนี้

MP24-3316-1A “ถ้ากฎกติกาเปลี่ยนแปลง ผู้กำกับมีความมั่นใจในเทคโนโลยี ง่าย สะดวก และราคาถูก พร้อมกับตลาดเปิดเสรี เกมเปิดกว้างให้เทคโนโลยีเข้ามาได้มากขึ้น ความเสี่ยงที่เราจะวิ่งไม่ทันมีมากขึ้น ถึงตอนนั้นผลกระทบมาชัดเจนแน่นอน ซึ่งคิดว่าคงอีกไม่นาน เป็นโจทย์ที่เซ็กเตอร์แบงก์ทุกที่คิดเหมือนกันและเริ่มเคลื่อน ไหวรับมือกับการเปลี่ยนแปลง”

นายอรพงศ์ ได้ยกตัวอย่างเทคโนโลยีการเงินที่หลายประเทศนำมาใช้แล้ว โดยเฉพาะในจีนที่ปัจจุบันมูลค่าของบริษัทเอกชนที่ไม่ใช่ธนาคารแต่เข้ามาทำธุรกิจที่คล้ายธนาคาร มีมูลค่าธุรกิจสูงกว่าธนาคารในประเทศจีนดังนั้นความเสี่ยงในระยะข้างหน้า ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการแข่งขันแค่คู่แข่ง แต่เป็นการวิ่งตามเทคโนโลยีให้ทัน หากวิ่งไม่ทันความเสี่ยงจะมีมากขึ้น

กรณี อาลีบาบา ที่มีบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) คือ อาลีเพย์ วันนี้ปริมาณธุรกรรมและเม็ดเงินสูงกว่าธนาคารในจีน ลูกค้ายังสามารถนำเงินใส่ไว้ใน E-Wallet ซื้อกองทุนเป็น Money Market หรือฝากเงินไว้ก็จะได้รับอัตราดอกเบี้ย โดยไม่จำเป็นต้องผ่านธนาคารอีกต่อไป
MP24-3316-2A
กรณี เทนเซ็นต์ ที่เปิดตัว WeChat ได้รับความนิยมสูง ล่าสุดได้รุกคืบเปิดบริการการเงินดิจิตอล ภายใต้ We Bank ซึ่งเป็น Pure Digital Bank โดยการปล่อยสินเชื่อบุคคลไม่มีหลักประกัน แต่มีอัตราความเสียหาย (Loan Loss) ตํ่ากว่า 1% เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินที่มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ตํ่ากว่า 6% ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

“วันนี้ธนาคารพาณิชย์ เป็นตัวเลือกสุดท้ายในชีวิต ลูกค้าจะใช้เฉพาะแบงก์ที่มีโปรโมชันที่ดีเท่านั้น จึงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับทุกธนาคาร ที่ต้องหาทางรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิตอล”

ธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งมีเป้าหมายชัดเจนสู่ธนาคารดิจิตอล หลายแห่งทุ่มงบประมาณรวมกันนับหมื่นล้านบาท เร่งลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมารองรับ มีการเข้าสนามทดสอบผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งเรื่องของระบบชำระเงิน การปล่อยกู้ผ่านแอพ พลิเคชัน และการโอนเงินผ่านบล็อกเชน ที่รวดเร็วและค่าธรรมเนียมสุดถูก

การปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ถือว่าเป็นไฟต์บังคับที่ต้องทำ แม้หลายผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจะทุบหม้อข้าวตัวเอง เพราะรายได้จากค่าธรรมเนียม รายได้ดอกเบี้ยหลายแสนล้านบาทที่เคยได้รับในแต่ละปี กำลังจะหดหายไปเรื่อยๆจากการเข้ามาของเทคโนโลยีนั่นเอง

MP24-3316-3A นายอรพงศ์ กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอด เพราะธนาคารขนาดใหญ่จะไม่สามารถวิ่งทัน หรือ Transform Digital ได้ทัน จึงได้จัดตั้ง DV ธนาคารถือหุ้น 100% เพื่อให้ DV ที่สามารถวิ่งได้เร็วและเคลื่อนตัวได้คล่องกว่าทำหน้าที่แสวงหานวัตกรรม ที่ทันกับการเปลี่ยนแปลง เหมาะสมกับธนาคารไทยพาณิชย์ และนำนวัตกรรม หรือ Solution ที่ได้พัฒนามาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ทางการเงินเหมาะสมกับธนาคารและลูกค้า

ทั้งนี้จะเห็นว่าโลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเกิดกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า Head down Generation ซึ่งจะมาสร้างการเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลก สร้างธุรกิจใหม่ และเซ็กเตอร์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ภายใต้โมเดลธุรกิจใหม่ หากผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ ไม่ปรับตัวอาจจะอยู่ไม่รอดในยุคการเปลี่ยนแปลงตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

“อนาคตของแบงก์ไม่ยั่ง ยืนอีกต่อไปทุกวันนี้แบงก์ไม่ใช่ทางเลือกแรกในชีวิตแต่กลายเป็นตัวเลือกสุดท้ายของชีวิต”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,316 วันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว